รมว.พม. ย้ำให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” เพียบด้วยความรู้ ความรับผิดชอบ และมีวินัย

ข่าวทั่วไป Friday January 23, 2015 17:41 —สำนักโฆษก

วันนี้ (๒๓ ม.ค. ๕๘) เวลา ๐๙.๓๐ น. พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน "การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติครั้งที่ ๑/๒๕๕๘” เพื่อพิจารณาการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖และแนวทางการแก้ไขปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง ณ ห้องประชุมชั้น ๘ อาคารใหม่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ สะพานขาว กรุงเทพฯ

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ ในการเสนอแนะความเห็นต่อรัฐมนตรี เกี่ยวกับนโยบาย แผนงานงบประมาณ และมาตรการในการสงเคราะห์ คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ รวมทั้งการติดตามประเมินผล และตรวจสอบการดำเนินงานของคณะกรรมการคุ้มครองเด็กกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติได้ร่วมกันพิจารณาปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมพนักงานเจ้าหน้าที่ในการสงเคราะห์และคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งนี้ การพัฒนา "คน”เป็นสิ่งที่ตนให้ความสำคัญอยู่เสมอ ดังนั้นหลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่นี้ จะเน้นการบริหารจัดการหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อผลิตพนักงาน เจ้าหน้าที่ ที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนงานด้วยองค์ความรู้ ความรับผิดชอบ และการมีวินัย

พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเด็กถูกทอดทิ้งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากพื้นฐานของครอบครัว โรงเรียน และสังคมที่อาจรับรู้ไม่ถูกต้อง กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จึงได้ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งนี้ กำหนดทิศทางการดำเนินงานแก้ปัญหาเด็กถูกทอดทิ้ง โดยเริ่มจากมาตรการป้องกัน โดยรณรงค์ให้ความรู้ต่อกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม และการให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องแก่เด็กและเยาวชน และกลุ่มเสี่ยงที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งในการดำเนินการเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม และท้องถิ่น ที่ควรมีการบูรณาการ อย่างชัดเจนในการขับเคลื่อนงาน พร้อมทั้งผลักดันให้ครอบครัว ชุมชน มีศักยภาพในการดูแลเด็กและเยาวชน โดยสร้างระบบการดูแลเด็กเพื่อแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อม มีการทบทวนในด้านต่างๆ เพื่อวางแนวทางในการขับเคลื่อนงานให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสังคมไทย

"ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ พร้อมให้คำปรึกษาแก่เด็ก เยาวชน และครอบครัว โดยมีศูนย์ช่วยเหลือสังคม OSCC โทร.๑๓๐๐ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นช่องทางบริการและช่วยแก้ไขปัญหาในทางที่ถูกต้องให้”พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวตอนท้าย

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ