ในการประชุมครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญในการติดตามความคืบหน้า อาทิ การเรียนการสอนของโรงเรียนปอเนาะและตาดีกา มีการสอนวิชาพื้นฐานวิชาสามัญแก่เด็กควบคู่กันหรือไม่ และทำอย่างไรให้เด็กในสามจังหวัดภาคใต้ได้เรียนสูงขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยในเรื่องนี้ จึงให้สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการศึกษาในภาคใต้ เช่น การเรียนภาษาไทย การอุดหนุนโรงเรียนปอเนาะ/ตาดีกา รวมถึงคุณภาพและโอกาสทางการศึกษาว่าเป็นอย่างไร เพื่อนำไปชี้แจงในการประชุมระดับปลัดกระทรวงครั้งต่อไป
และจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับสั่งถึงเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทย จึงขอให้ สช. ดูแลในเรื่องนี้ด้วยว่าโรงเรียนมีวิธีการสอนอย่างไร และมีนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้หรือไม่ โดยส่งเสริมให้จัดค่ายวิชาการทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนการสอนอีกช่องทางหนึ่ง อีกเรื่องคือ การจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาเอกชนให้มีโครงการความร่วมมือกับสถานประกอบการอย่างไรได้บ้าง มีความร่วมมือในระบบทวิภาคีกี่แห่ง มีการสอนเป็นอย่างไร และมีสถานประกอบการมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการจัดการเรียนการสอนของอาชีวศึกษาเอกชนควรมีความร่วมมือกับสถานประกอบการเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายมาเรียนเสริมเพื่อเพิ่มทักษะให้มีการศึกษาที่สูงขึ้น โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นหลากหลายเพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ผู้เรียนที่อยู่ในกลุ่มคนทำงานด้วย และอยากให้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เพราะมีเด็ก กศน.ไม่น้อยที่เรียนอาชีวศึกษา แต่ไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอนและสถานที่ฝึกปฏิบัติงาน จึงควรมาร่วมมือกับอาชีวศึกษาเอกชนในการผลิตกำลังคนร่วมกัน อยากมุ่งเน้นให้อาชีวศึกษาเอกชนทำงานในเชิงรุกให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ
นอกจากนี้ ได้กำหนดวันมอบทุนการศึกษารายปีต่อเนื่องให้กับทายาทผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ในจังหวัดสงขลา ส่วนสถานที่ยังอยู่ระหว่างการคัดเลือก
ศศิพิชญ์/สรุป
ศุภชัย/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th