การจัดงานในครั้งนี้ เน้นประโยชน์สำคัญเพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยทุกระดับ มีการประมวลจัดกลุ่มผลงานวิจัยตามสาขาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ และตามประเด็นการวิจัย ทั้งการวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ การวิจัยชุมชน นวัตกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ พร้อมกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านวิชาการและการวิจัย ในภาคีของภาครัฐในชุมชนและเอกชน ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในภูมิภาคทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งศิษย์เก่าได้มานำเสนอผลงานวิจัยที่ทำขึ้น และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์ต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย และต่อโลก
มีการจัดแสดงนิทรรศการและการนำเสนอผลงานทางวิชาการกว่า 212 ผลงาน แบ่งเป็นภาคบรรยาย 99 ผลงาน ภาคโปสเตอร์ 113 ผลงาน จากผลงานวิจัยทั่วโลกที่จะมานำเสนอ และนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมจาก 39 กลุ่มวิจัย และ 31 ศูนย์วิจัยของนักวิจัยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ออกมาเผยแพร่กว่า 50 ผลงาน โดยแยกออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกการวิจัยเพื่อแก้โจทย์ปัญหา ทั้งปัญหาเรื้อรัง และปัญหาเร่งด่วนของท้องถิ่น อีกกลุ่มเป็นงานวิจัยพื้นฐาน ซึ่งทำการวิจัยขึ้นเพื่อให้ทราบถึงความรู้เบื้องต้น อันจะนำมาซึ่งความรู้เพื่อใช้วินิจฉัยแก้ปัญหาใหญ่ที่ยุ่งยาก ซับซ้อนได้ ยกตัวอย่างจากการวิจัยพื้นฐาน “โรคธาลัสซีเมีย” ผลิตน้ำยาตรวจธาลัสซีเมีย มีราคาถูกและได้ผลเป็นอย่างดี ผลงานของ รศ.สุพรรณ ฟู่เจริญ คณะเทคนิคการแพทย์ ซึ่งทำการวิจัยมาหลายปี โดยได้มีการวิจัยต่อเนื่องกระทั่งพบว่าโรคธาลัสซีเมียของประชาชนในภาคอีสานนั้นเป็นชนิดที่ไม่เหมือนที่พบในโลก
นอกจากนั้นยังมีวิทยากรหลักจากต่างประเทศ อาทิ นายโนโบรุ ชอนนีฮารา (Mr.Noboru Sonehara) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสนใจในเรื่องข้อมูลจำนวนมหาศาล ที่ตรงประเด็นกับอีคอมเมิร์ช ไมโคร อีโคโนมิคส์ ที่เกิดขึ้น ไมโครอิเล็คทรอนิกส์ในด้านการบริหารจัดการ จะพูดในเรื่องการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ใช้ในสังคมไทยได้ เป็นส่วนหนึ่งที่จะเกิดขึ้นในงาน และ “หุ่นยนต์มนุษย์ในศตวรรษที่ 21” จาก Prof.Volker Graefe ศาสตราจารย์ระดับโลกทางด้านระบบจักรกลอัจฉริยะที่สามารถตอบสนองอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์จากมหาวิทยาลัยไฟรบูร์ก ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ เคยพัฒนาและสร้งหุ่นยนต์แรดซึ่งทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวในพิพิธภัณฑ์เยอรมัน กรุงบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยสามารถเคลื่อนไหวและตอบโต้กับมนุษย์ได้ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการพัฒนาหุ่นยนต์ โดยระบบประมวลผลหรือสมองของหุ่นยนต์ตัวนี้มีอัลกอริทึมที่วิเคราะห์ความน่าจะเป็นเพื่อใช้ในการนำทางหุ่นยนต์ให้เคลื่อนที่หลบหลีกสิ่งกีดขว้างได้อย่างอัตโนมัติ เป็นพื้นฐานไปสู่การพัฒนาระบบประมวลผลหรือสมองของหุ่นยนต์ในรุ่นต่อไป
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์/นางสาวพจนพร แสงสว่าง กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th