วันนี้ (26 มกราคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการเฝ้าระวังป้องกันโรคอีโบลา ว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคอีโบลามีแนวโน้มดีขึ้นค่อนข้างชัดเจน จำนวนผู้ป่วยลดลง ข้อมูลองค์การอนามัยโลกรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2557 พบผู้ป่วย 21,724 ราย เสียชีวิต 8,641 ราย ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบผู้ป่วยใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี 20 ราย ไลบีเรีย 8 ราย และเซียร์ราลีโอน 117 ราย โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้ประเทศมาลีเป็นประเทศปลอดโรคอีโบลาแล้ว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการออกประกาศยกเลิกประเทศมาลีเป็นเขตติดโรคต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้ให้ทุกหน่วยงานคงมาตรการทั้งด้านการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้เดินทางจากประเทศเขตติดโรคตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นต่อไป ที่ด่านควบคุมโรคทั้งทางบก น้ำ และอากาศ รวมทั้งในชุมชน พัฒนาระบบการดูแลรักษา ป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาลในสังกัด และประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย กองทัพ ในการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัด การพัฒนาห้องปฏิบัติการ รวมทั้งมอบให้วอร์รูมกรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานเกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องต่อไป และรายงานเข้าวอร์รูมกระทรวงสาธารณสุข จนกว่าองค์การอนามัยโลกจะประกาศยุติการระบาดของโรคนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 -9 เดือน
ศ.นพรัชตะกล่าวต่อว่า การดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรคอีโบลาในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของประเทศไทยนับว่าได้ผลเป็นอย่างดี ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งของระบบการเฝ้าระวัง ป้องกันโรค การดูแลรักษา และยังเป็นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้พร้อมรับสถานการณ์โรคอีโบลาและโรคอุบัติใหม่อื่นๆที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า มาตรการตรวจคัดกรองเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่ระบาดในระยะ 21 วัน ที่ผ่านมาสามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดี ขณะนี้มีประมาณวันละ 10 คน ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2557 - 25 มกราคม 2558 ได้คัดกรองไปแล้ว 3,930 คน และสามารถติดตามอาการได้ครบทุกคน ระยะหลังพบว่าผู้เดินทางอยู่ในหลายจังหวัด เช่นภูเก็ต นนทบุรี เชียงใหม่ ชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่เดินทางไปทำงานใน 3 ประเทศเขตติดโรค จนถึงขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไวรัสอีโบลาในประเทศไทย
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ประชุมเพื่อประสานบูรณาการทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กับมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ได้ข้อสรุปว่า จะจัดทีมหลักร่วมกันระหว่างทั้ง 3 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาศักยภาพในภาคการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในสังกัด 3 หน่วยงานที่มีประมาณ 17 แห่ง โดยให้ทุกโรงพยาบาลจัดซ้อมแผนในการดูแล กรณีพบผู้ป่วยสงสัยติดเชื้อไวรัสอีโบลา และจะส่งทีมตรวจเยี่ยมแต่ละโรงพยาบาล เพื่อสร้างความมั่นใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วย
26 มกราคม 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th