พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการดำเนินโครงการ "วัคซีนครอบครัว : ตำบลเข้มแข็งไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการ "๒๐ ของขวัญ พม.มอบสู่ประชาชน"เพื่อลดปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและสร้างสัมพันธภาพครอบครัวที่ดีขึ้น และได้เปิดตัวโครงการไปเมื่อวันที่ ๒๕ พ.ย.๕๗ แลัวนั้น กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้จัดทำชุดความรู้ด้านการส่งเสริมสัมพันธภาพและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในครอบครัว Box Set "วัคซีนครอบครัว” จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด พร้อมส่งมอบให้แก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลเข้มแข็ง ๑,๐๐๐ตำบล ๗๖ จังหวัด ทั่วประเทศ ภายในเดือนมกราคม ๒๕๕๘
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า จากกรณีชายชราอายุ ๗๙ ปี และหญิงชราอายุ ๘๐ ปี พิการตาบอดโดยสองสามีภรรยาอาศัยอยู่ตามลำพัง มีสภาพความเป็นอยู่ที่รันทด ไม่มีคนดูแล ครอบครัวมีฐานะยากจน ต้องอาศัยเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเบี้ยความพิการประทังชีวิต ที่จังหวัดสุโขทัย ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสุโขทัย (พมจ.สุโขทัย)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือครอบครัวดังกล่าวในเบื้องต้น พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล รวมทั้งดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งคู่ในระยะยาว ส่วนกรณีทารกเพศหญิงแรกเกิดที่ยังมีชีวิต ถูกพ่อแม่นำใส่ถุงดำไปทิ้งถังขยะริมบึงหนองโคตร จังหวัดขอนแก่น แต่โชคดีมีพลเมืองดีไปเจอและช่วยนำส่งโรงพยาบาล ตนได้กำชับให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น (พมจ.ขอนแก่น)ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือเด็กหญิงดังกล่าวในระยะยาว ทั้งนี้กรณีดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการตั้งครรภ์ไม่พร้อมจึงนำเด็กมาทิ้ง ซึ่งขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรณรงค์ให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นอีก สำหรับกรณีที่หน่วย ฉก.กองทัพเรือ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าช่วยชายอายุ ๔๐ ปี ที่ถูกหลอกมาลงเรือประมงที่ อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยถูกใช้งานเยี่ยงทาส แทบไม่ได้พัก และมีเพื่อนชะตากรรมเดียวกันอีกกว่า ๔๐ คน ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าวและติดตามช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างต่อเนื่อง
"กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กำหนดจัดระเบียบคนขอทานครั้งที่ ๓ ระหว่างวันที่ ๒๖-๓๐ ม.ค.๒๕๕๘ ซึ่งเป็นการจัดระเบียบคนขอทานพร้อมกันทั่วประเทศ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) จะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการการจัดระเบียบคนขอทาน เพื่อบูรณาการการทำงานเชื่อมโยงกับภาคีเครือข่าย ซึ่งตนได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ใช้หลัก ๓ p เป็นแนวทางการดำเนินการ ได้แก่ ๑)การบังคับใช้กฎหมาย (Policy) ๒)การคุ้มครองช่วยเหลือ Protection) และ ๓)การป้องกัน(Prevention) เพื่อให้การดำเนินการจัดระเบียบคนขอทานครั้งนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง”พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th