รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าแนวทางดำเนินการเพื่อยกระดับรายได้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐสำหรับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งในขณะนี้ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 ฉบับ คือ ร่างกฎ ก.พ.อ.ว่าด้วยการกำหนดบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. .... และร่างกฎ ก.พ.อ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาได้รับเงินเดือน พ.ศ. .... รวมทั้งบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงใหม่ ได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2558 ขณะนี้ได้เสนอไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อประกาศใช้ต่อไป โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557
การเสนอขอรับการการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อขอแก้ไขเยียวยาให้กับข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการ
จากการที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้เห็นชอบให้มีการปรับเพิ่มบัญชีเงินเดือนแก่ข้าราชการครูสายผู้สอน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาสายวิชาการ ซึ่งเป็นสายผู้สอนเช่นเดียวกัน จำนวน 19,696 คน ยังไม่ได้รับการปรับเพิ่มเงินเดือน
ทั้งนี้ มติ ก.พ.อ.เมื่อปี 2556 ได้เห็นชอบให้มีการดำเนินการเพื่อแก้ไขเยียวยาขอปรับเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 แต่ต่อมาเกิดเหตุการณ์ยุบสภา ทำให้จำเป็นต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา
ที่ประชุม ก.พ.อ. จึงได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. คณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าวประกอบการพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
รายงานการศึกษาและพัฒนาระบบค่าตอบแทนของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ
จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2553 ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาศึกษาค่าตอบแทนของข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการทุกประเภททั้งระบบ ซึ่งในส่วนของ ก.พ.อ.นั้น คณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษาได้มีความเห็นว่า ควรเสนอให้ ก.พ.อ.พิจารณาผลการศึกษา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการพิจารณาเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) และรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
ที่ประชุม ก.พ.อ.ได้พิจารณาแล้ว มีมติเห็นชอบให้เสนอรายงานการศึกษาและพัฒนาระบบค่าตอบแทนดังกล่าวต่อ กงช.และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะหลักคือ
1) ควรให้มีตัวแทนของ ก.พ.อ. อยู่ใน กงช. เพื่อพิจารณาค่าตอบแทนในภาพรวมทั้งระบบ
2) คำนึงถึงระบบการบริหารงานบุคคลของ ก.พ.อ.ที่ให้ข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับการพิจารณาให้ต่อเวลารับราชการต่อไปได้จนอายุครบ 65 ปี
3) ควรแยกบัญชีเงินเดือนของบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาออกจากบัญชีเงินเดือนของ ก.พ. เช่นเดียวกับการแยกบัญชีเงินเดือนของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เพื่อให้สามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้
เห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งศาสตราจารย์ จำนวน 7 ราย
ที่ประชุมเห็นชอบให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 7 ราย ดังนี้
1. รศ.สุรศักดิ์ นิลนนท์ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2. รศ.อนุชา อภิสารธนรักษ์ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
3. รศ.ธเนศ พงศ์จรรยากุล ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
4. รศ.สนั่น จอกลอย ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีที่ 2 ในสาขาวิชาการปรับปรุงพันธุ์พืช คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
5. รศ.ส่งศรี กุลปรีชา ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์โดยวิธีที่ 2 ในสาขาวิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
6. รศ.อรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
7. รศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ในสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นอกจากนี้ ที่ประชุมรับทราบรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานภาระงานของคณาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล เช่น นโยบายการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมจากสถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ที่มา: http://www.thaigov.go.th