โดยที่ประชุมฯ ได้รับรองรายงานการประชุมฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๘ และเสนอเรื่องเพื่อทราบ เรื่อง คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการ ๖ คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา คณะอนุกรรมการการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ และคณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู
และประเด็นที่ควรแก้ไขเร่งด่วนใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ และ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๓ สรุปได้ดังนี้
๑. การแบ่งประเภทและระดับการศึกษา (มาตรา ๑๖-๒๐) ประเด็นปรับปรุงแก้ไข คือ
- กำหนดให้การศึกษาระดับปฐมวัยอยู่ในการศึกษาขั้นพื้นฐาน เนื่องจากเป็นช่วงการศึกษาที่สำคัญ เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น
- กำหนดช่วงชั้นเรียนให้ชัดเจนว่า การศึกษาภาคบังคับเริ่มจากชั้นใด และช่วงชั้นใด
- กำหนดระดับชั้นของอาชีวศึกษาให้ชัดเจน
๒. การประกันคุณภาพ (มาตรา ๔ มาตรา ๔๙) ประเด็นปรับปรุงแก้ไข คือ ควรกำหนดแนวทาง/มาตรการปรับปรุงการดำเนินงานของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) ดังนี้
- การประเมินคุณภาพต้องนำไปสู่การเสนอแผนหรือแนวทางในการปรับปรุงสถานศึกษา และกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงให้ชัดเจน ตลอดจนกำหนดมาตรการลงโทษในกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ/กฎหมายที่กำหนดไว้
- คำนิยาม “การประกันคุณภาพภายใน” ที่กำหนดให้ครอบคลุมหน่วยงานต้นสังกัด ทำให้การตรวจประเมินของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสพฐ.เป็นการประกันคุณภาพภายในที่ซ้ำซ้อน ส่งผลกระทบให้ภาระงานของทุกหน่วยงานเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น จึงควรกำหนดนิยามไม่ให้ซ้ำซ้อนกับการประเมินคุณภาพภายนอก
- การนิยามคุณภาพสถานศึกษาควรให้ความสำคัญและครอบคลุมถึง “ความรับผิดชอบ” ของผู้บริหารสถานศึกษา
- ควรปรับเปลี่ยนแนวทางการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาเป็นการประเมินเชิงประเด็นตามนโยบายที่กำหนด รวมทั้งประเมินเฉพาะสถานศึกษาที่ตรวจพบว่ามีปัญหา และประเมินสถานศึกษาที่พร้อมรับการตรวจประเมินเพื่อการรับรองคุณภาพ ด้วยวิธีการประเมินที่หลากหลายตามจุดมุ่งหมายของสถานศึกษา และจากผู้ประเมินที่มีประสบการณ์
๓. การบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐ (มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ มาตร ๓๗ มาตรา ๓๘) : ประเด็นปรับปรุงแก้ไข คือ
- ควรมีหน่วยงานระดับชาติ (สภาการศึกษาระดับชาติ) บริหารในรูปของคณะกรรมการ เพพื่อกำหนดนโยบายการศึกษาของประเทศ รวมทั้งกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐาน และประสิทธิภาพ มีลักษณะเป็น “super board”
- เสนอให้แก้ไข มาตรา ๓๗ และมาตรา ๓๘ โดยหลักการให้เขตพื้นที่การศึกษาเป็นโครงสร้างระดับจังหวัด บริหารโดยสภาการศึกษาระดับจังหวัด ภายใต้นโยบายของสภาการศึกษาแห่งชาติ
- ให้หน่วยงานส่วนกลางมีขนาดเล็กลง ทำหน้าที่เฉพาะกำกับ ติดตามการศึกษา และให้มีหน่วยงานวิชาการรับผิดชอบการพัฒนาหลักสูตร หน่วยงานนโยบายและแผนการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา หน่วยงานที่ดูแลระบบศึกษานิเทศก์ และหน่วยงานการจัดการฐานข้อมูลการศึกษา
- ให้แยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาออกจากกระทรวงศึกษาธิการ
๔. ทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา (มาตรา ๖๐ มาตรา ๖๓-๖๕ มาตรา ๖๗-๖๙) ประเด็นปรับปรุงแก้ไข คือ
- ควรจัดสรรงบประมาณตามมาตรา ๖๐ (๔) ลงสู่ระดับจังหวัด ภายใต้ความรับผิดชอบของสภาการศึกษาจังหวัด โดยให้สถานศึกษาแต่ละแห่งจัดทำงบประมาณเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ (สภาการศึกษาจังหวัด)
- จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการศึกษาตามมาตรา ๖๓ ควรแก้ไขเป็น จัดสรรระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา เนื่องจากการจัดสรรคลื่นความถี่ต้องผ่านการประมูล
๕. ประเด็นอื่นๆ อาทิ ครูและการประกอบวิชาชีพครู การผลิตและพัฒนาครู ผู้บริหารการศึกษา การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครู ซึ่งต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
แนวทางการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เสนอโดย คณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้พิจารณากรอบแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานในระยะเร่งด่วน โดยยึดหลักการที่สำคัญ ประกอบด้วย
๑. การศึกษาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชาติ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี
๒. ความเสมอภาคของการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และทุกคนมีโอกาสพัฒนาเต็มตามศักยภาพ
๓. ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่และได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่สำคัญ ดังนี้
๑. ปัญหาผู้เรียนอ่านและเขียนไม่คล่อง
๒. การให้ความช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและชายขอบ
๓. การบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรการศึกษาตามความจำเป็น
๔. ระบบการผลิตและพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา
๕. การกำหนดผู้รับผิดชอบระดับชาติและท้องถิ่นเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีความเชื่อมโยงและต่อเนื่อง
๖. การส่งเสริมให้มีการสอนทักษะการทำงานและให้ศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น
๗. การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอน
๘. การจัดการฐานข้อมูลด้านการศึกษาอย่างเป็นระบบ
ยุทธศาสตร์และกลไกการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ เสนอโดยคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกลไก กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนามนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยมียุทธศาสตร์การปฏิรูป ดังนี้
๑. การกระจายอำนาจ
๒. ปฏิรูประบบการเงินงบประมาณด้านการศึกษาใหม่
๓. ปฏิรูประบบกำลังคนทางการศึกษาใหม่
๔. ปฏิรูปความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์
๕. เสริมสร้างการเรียนรู้ใหม่ของคนไทยและสังคมไทย
อีกทั้งมีกลไกการปฏิรูปการศึกษาในระยะยาว ดังนี้
๑. การตราพระราชบัญญัติใหม่ ๒ ฉบับ คือ
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปการศึกษาพ.ศ..... เพื่อวางกลไกเพื่อกำกับดูแลการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ ในระยะยาวอย่างน้อย ๑๐ ปี
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้รับการศึกษา พ.ศ.... เพื่อสร้างระบบการรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของผู้จัดการศึกษาในทุกระดับและประเภท
- พระราชบัญญัติว่าด้วยสถาบันวิจัยระบบการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พ.ศ.....
๒. การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ และ กฎหมายที่เกี่ยวเนื่องและมาตรการเร่งด่วนเพื่อการฟื้นฟูคุณภาพการศึกษา มีดังนี้
๑. การคืนเวลาเรียนอย่างมีคุณภาพ
๒. การปรับใช้หลักสูตรแกนกลาง
๓. การยกเลิกหลักเกณฑ์วิทยฐานะครูและผู้บริหารสถานศึกษา
๔. การปรับสัดส่วนสมดุลงบประมาณระหว่างหน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาใหม่
๕. การแก้ไขปัญหาการบรรจุแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการครู
๖. การยุบเลิกหน่วยงานภายในที่ไม่ได้จัดตั้งตามกฎหมายเพื่อลดงบประมาณ
๗. การลดกระบวนการทดสอบจากส่วนกลางลง
๘. การเลื่อนการประเมินรอบ ๔ ของ สมศ. และให้ปรับปรุงเกณฑ์การประเมินใหม่ทุกระดับ
๙. การลดขนาดสถานศึกษาและขนาดห้องเรียนในสถานศึกษาขนาดใหญ่
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เสนอเรื่องเพื่อพิจารณา เรื่องประเด็นหารือการปฏิรูปการศึกษาระหว่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. ประกอบด้วย
๑. คณะกรรรมการระดับชาติ : โครงสร้างองค์กรที่จำเป็นในการปฏิรูปการศึกษา
๒. ประเด็นการกระจายอำนาจและความรับผิดชอบการจัดการศึกษา ระบบงบประมาณ การบริหาร งานบุคคล และการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและมาตรการเร่งด่วนเพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา มีดังนี้
๑. การกำหนดขนาดห้องเรียน (class size) เพื่อลดขนาดห้องเรียนของสถานศึกษาขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ ให้มีขนาดไม่เกิน ๓๐ คนต่อห้อง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน ๖ ปี นับตั้งแต่ปีการศึกษา ๒๕๕๘
๒. ยกเลิกกระบวนการสอบ NT และการสอบ LAS ระดับประถมศึกษาของ สพฐ. ให้เหลือเฉพาะการสอบ O-NET เท่านั้น
๓. ยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษา ที่เน้นรางวัลและผลงานจากการประกวดแข่งขัน (ว๑๓/๒๕๕๖) รวมทั้งหลักเกณฑ์และวิธีการที่เน้นการส่งรายงานทางวิชาการ (ว๑๗/๒๕๕๖) ที่ไม่เหมาะสม และให้พัฒนาหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าสู่วิทยาฐานะของครูและผู้บริหารสถานศึกษาแบบใหม่ที่มุ่งผลลัพธ์ที่ตัวผู้เรียน
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติให้ สพฐ.ตรวจสอบดูรายละเอียดตามความเหมาะสมในส่วนของการกำหนดขนาดห้องเรียน และการยกเลิกกระบวนการสอบ NT และ LAS ในส่วนการยกเลิกหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษานั้น กำลังอยู่ในระยะการดำเนินการ ของ ก.ค.ศ.
ปกรณ์/สรุป
กิตติกร/ภาพ
กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th