ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ แถลงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมได้รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษาของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา 6 คณะ และแนวทางการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน รายละเอียดดังนี้
รับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ
ที่ประชุมรับทราบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา ของคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ รวม 6 คณะ ดังนี้
1) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงิน
- ศาสตราจารย์ (พิเศษ) สมชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ ศาสตราจารย์อารยะ ปรีชาเมตตา นายธวัช สุวุฒิกุล นางนงราม เศรษฐพานิช นายนคร ตังคะพิภพ นายรังสรรค์ มณีเล็ก นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส นางสาวชลธาร วิศรุตวงศ์ นายดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักประเมินผลการจัดการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ กำหนดหลักการ แนวคิด และออกแบบระบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา จัดทำแนวทางการปฏิรูประบบทรัพยากรและการเงินเพื่อการศึกษา จัดทำแผนขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบบการสนองทุนผ่านอุปทานไปสู่ด้านอุปสงค์ รวมทั้งเสนอประเด็นข้อกฎหมายที่ต้องแก้ไข จัดทำข้อเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
2) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบข้อมูลและสารสนเทศทางการศึกษา
- เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นที่ปรึกษา
- รองศาสตราจารย์จีรเดช อู่สวัสดิ์ เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย พลเอกองอาจ พงษ์ศักดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบัติ อยู่เมือง รองศาสตราจารย์ปานใจ ธารทัศนวงศ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณหรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานหรือผู้แทน ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ศธ. หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักประสานและพัฒนาการจัดการศึกษาท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย หรือผู้แทน ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชนหรือผู้แทน โดยมีผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการศึกษา สกศ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ เสนอโครงสร้างและระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการบริหารและจัดการศึกษาทั้งระดับหน่วยงานส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และสถานศึกษา ที่บูรณาการและเชื่อมโยงกับระบบการประกันคุณภาพภายในและภายนอก การวัดผลการเรียนรู้ของผู้เรียน และการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ออกแบบระบบฐานข้อมูลและสารสนเทศของสถานศึกษา จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดตั้งสำนักงานบริหารและการจัดการข้อมูลและสารสนเทศ แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
3) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการกระจายอำนาจ
- รองศาสตราจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย รองศาสตราจารย์สนานจิตร สุคนธทรัพย์ รองศาสตราจารย์กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย นายอมรวิชช์ นาครทรรพ นายนคร ตังคะพิภพ นางสีลาภรณ์ บัวสาย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์พิณสุดา สิริธรังศรี ผู้แทน สพฐ. ผู้แทนกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษา สกศ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ กำหนดหลักการ แนวคิด มาตรการ และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการกระจายอำนาจไปสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา และจัดทำแผนและขั้นตอนการเปลี่ยนผ่านระบบการบริหารจัดการไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการศึกษา แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
4) คณะอนุกรรมการปฏิรูปกฎหมายการศึกษา
- รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม และรองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ เป็นที่ปรึกษา
- ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รองศาสตราจารย์ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล นายอภิมุข สุขประสิทธิ์ นางสิริกร มณีรินทร์ นายกิติรัตน์ มังคละคีรี นายนพพร สุวรรณรุจิ นายอาทร ทองสวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์วนิดา แสงสารพันธ์ นายพิเชษฐ์ ตรีพนากร นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต นางสาวจตุราภรณ์ รอดเกลี้ยง นายสุภัทร พันธ์พัฒนกุล นายสมนึก ผดุงจันทร์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักพัฒนากฎหมายการศึกษา สกศ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อปฏิรูปกฎหมายการศึกษา และให้ความเห็น ข้อเสนอแนะ ยกร่างหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย เสนอต่อคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา ศธ. แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
5) คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้
- ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช รองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม รองศาสตราจารย์สุพักตร์ พิบูลย์ นายพิชัย สนแจ้ง เป็นที่ปรึกษา
- นางสิริกร มณีรินทร์ เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์อุทุมพร จามรมาน นายแพทย์ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ นายปรีชา บัววิรัตน์เลิศ นายสุชาติ วงศ์สุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือผู้แทน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สพฐ. หรือผู้แทน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ นางบรรเจอดพร สู่แสนสุข นายประพนธ์ ผาสุขยืด นางสาวณหทัย ทิวไผ่งาม นายสำเร็จ แก้วกระจ่าง นายบุญเลิศ ค่อนสะอาด นายศีลวัต ศุษิลวรณ์ นายกลิ่น สระทองเนียม โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายความร่วมมือกับต่างประเทศ สกศ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ กำหนดแนวทางการพัฒนาการเรียนรู้ให้มีความยืดหยุ่น หลากหลาย ตามศักยภาพของผู้เรียนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมรวมและพัฒนาองค์ความรู้ รูปแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ตั้งแต่ระดับปฐมวัยและการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ในทุกระดับ จัดทำข้อเสนอแนะปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการปฏิรูปการเรียนรู้ แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
6) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู
- นายอมรวิชช์ นาครทรรพ และนายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เป็นที่ปรึกษา
- รองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล เป็นประธาน
- อนุกรรมการ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ศาสตราจารย์พฤทธิ์ ศิริบรรณพิทักษ์ นายวิทวัส บุญญสถิต นายชาลี ตั้งจีรวงษ์ นายพิษณุ ตุลสุข นายรังสรรค์ มณีเล็ก นายอกนิษฐ์ คลังแสง รองศาสตราจารย์ช่วงโชติ พันธุเวช รองศาสตราจารย์ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ รองศาสตราจารย์สมบัติ คชสิทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์เรืองเดช วงศ์หล้า ผู้ช่วยศาสตราจารย์นิวัติ กลิ่นงาม ประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือผู้แทน ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์ อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือผู้แทน รองศาสตราจารย์สมบัติ นพรัก รองศาสตราจารย์ประวิต เอราวรรณ์ รองศาสตราจารย์มนตรี แย้มกสิกร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์อุษณีย์ อนุรุทธ์วงศ์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ นายสัมพันธ์ ศิลปนาฏ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา หรือผู้แทน นางสาววัฒนาพร สุขพรต โดยมีผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สกศ. เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
มีหน้าที่ กำหนดนโยบายในการผลิต การพัฒนา รวมทั้งระบบบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบการปฏิรูปการศึกษา ศึกษา วิเคราะห์ วินิจฉัย รายงานของคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อนำมากำหนดเป็นนโยบายและแนวทางในการปฏิบัติเสนอคณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา แต่งตั้งคณะทำงาน และดำเนินงานอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษามอบหมาย
รับทราบแนวทางการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่ประชุมรับทราบแนวทางการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาขั้นพื้นฐานในคณะกรรมาธิการการศึกษาและกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีคุณภาพ โดยยึดหลักการที่สำคัญ คือ 1) การศึกษาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของชาติ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี 2) ความเสมอภาคของการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ และทุกคนมีโอกาสพัฒนาเต็มตามศักยภาพ 3) ส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาที่มีความหลากหลาย สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจและภูมิสังคมของแต่ละพื้นที่
แนวทางการปฏิรูปเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญ 8 ประการ ได้แก่
- ปัญหาผู้เรียนอ่านและเขียนไม่คล่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากรูปแบบการสอน ตำรา สื่อการสอนไม่น่าสนใจ ครูโยกย้ายบ่อย ยกเลิกรับครูระดับประถมศึกษา และขาดการเตรียมความพร้อมของครูระดับปฐมวัย โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้บริหารในระดับต่างๆ ต่อการอ่านและเขียนของผู้เรียน ปรับนโยบายการประเมินผลสถานศึกษาให้สอดคล้องตามบริบทของสถานศึกษาและพื้นที่ มีการพัฒนาสื่อตำราและรูปแบบการสอน และการผลิตและรับครูระดับปฐมวัยและระดับประถมศึกษาที่มีคุณภาพ
- การให้ความช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กและชายขอบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เรียนในโรงเรียนเหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือมากกว่าเด็กทั่วไป ครูขาดแรงจูงใจในการทำงาน และขาดครูด้านการศึกษาพิเศษ โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการสร้างเครือข่ายอุดมศึกษาในการสอน (Coaching) ในโรงเรียน โดยมีการสนับสนุนทรัพยากรให้กับสถาบันอุดมศึกษา ส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการจัดการศึกษา ตลอดจนผลิตและบรรจุครูด้านการศึกษาพิเศษเพิ่มขึ้น
- การบริหารจัดการงบประมาณและทรัพยากรการศึกษาตามความจำเป็น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวเท่ากันทั่วประเทศ เกิดช่องว่างของการเข้าถึงเทคโนโลยีและสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ รวมทั้งการประเมินผลเพื่อตัดสินคุณภาพ โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณตามภารกิจของโรงเรียนเพิ่มเติมจากการอุดหนุนรายหัว การปรับเปลี่ยนการประเมินสถานศึกษาให้เป็นการประเมินเพื่อพัฒนาและสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา การพัฒนาสื่อดิจิทัล การเข้าถึงสื่อและเทคโนโลยี
- ระบบการผลิตและพัฒนาครูและผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการผลิตครูที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ขาดแรงจูงใจให้ครูมีคุณภาพไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โครงสร้างและบทบาทองค์กรสภาวิชาชีพครูไม่ตอบโจทย์การศึกษา การโยกย้ายครูและผู้บริหารบ่อยครั้ง การอบรมและงานประกันคุณภาพมีปริมาณมากเกินไป รวมทั้งการสอบบรรจุครูไม่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการผลิตครูให้สอดคล้องกับความต้องการอย่างแท้จริง คัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาที่มีคุณภาพในการผลิตครู กระจายอำนาจการบรรจุครูสู่ท้องถิ่น การปรับปรุงระเบียบสภาวิชาชีพเพื่อให้บุคลากรในสาขาขาดแคลนขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้สะดวกขึ้น ตลอดจนการปรับเปลี่ยนระบบการเลื่อนระดับเป็นผู้บริหารแทนการสอบ
- การกำหนดผู้รับผิดชอบระดับชาติและท้องถิ่นเพื่อให้การปฏิรูปการศึกษามีความเชื่อมโยงและต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการขาดความเชื่อมโยงของหน่วยงานต่างๆ ในการจัดการศึกษา เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะระดับปฐมวัย นอกจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีผู้รับผิดชอบในภาพรวมที่จะเชื่อมโยงให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ไม่ซ้ำซ้อนกัน โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการกระจายอำนาจและงบประมาณอย่างเป็นเอกภาพ โดยการจัดตั้งสภาการศึกษาระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับอำเภอ เพื่อเป็นเจ้าภาพหลักในการกำหนดนโยบายทางการศึกษาในแต่ละระดับ ให้อำนาจในการกำหนดรูปแบบและบริหารจัดการได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และให้ภาคประชาสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น
- การส่งเสริมให้มีการสอนทักษะการทำงานและให้ศึกษาต่อในสายอาชีวศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาเหตุมาจากค่านิยมของผู้เรียนและผู้ปกครองในการเรียนต่อสายสามัญและอุดมศึกษา ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวศึกษา โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการส่งเสริมการสอนทักษะการทำงานและอาชีพในสายสามัญ สร้างระบบแนะแนวที่มีคุณภาพ เพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. ปรับโครงสร้างให้การดูแลสถาบันอาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชนอยู่ภายใต้หน่วยงานเดียวกัน ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐและเอกชนทางต้นทุนการผลิตบุคลากร
- การปฏิรูปหลักสูตรและการเรียนการสอน ซึ่งมีสาเหตุมาจากครูขาดความรู้ในการนำหลักสูตรการเรียนการสอนไปใช้หรือการออกแบบการเรียนรู้ รวมทั้งโครงสร้างหน่วยงานทำให้การบริหารจัดการและการประกันคุณภาพหลักสูตรถูกลดความสำคัญลง โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ เสนอให้มีการจัดหลักสูตรที่เน้นความรู้พื้นฐาน เพิ่มการลงมือปฏิบัติ การงานอาชีพ ทักษะการคิดที่สร้างสรรค์ ความคิดเชิงวิพากษ์ และการเป็นพลเมืองโลก รวมทั้งปรับโครงสร้างให้มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการพัฒนาหลักสูตรที่ชัดเจน
- การจัดการฐานข้อมูลด้านการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ตลอดจนถึงการศึกษา กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน และยังขาดความเชื่อมโยง ทำให้ข้อมูลบางส่วนขาดหาย บางส่วนมีความซ้ำซ้อน และบางส่วนไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ โดยมีแนวทางการแก้ปัญหา คือ จัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อจัดทำรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ปรับปรุงให้ทันสมัย เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการวางแผนและบริหารจัดการต่อไป
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th