ดร. พิเชฐฯ ยังใช้โอกาสนี้พบกับพันธมิตรการวิจัยของญี่ปุ่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัย และเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย สำหรับหนึ่งในผลงานเด่น ที่ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาตินำไปจัดแสดงนิทรรศการของประเทศไทยครั้งนี้ คือ อีเซนตส์ (Esenss) หรือ เครื่องวัดรสชาติอาหาร (ความอร่อย) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่นักวิจัยศูนย์นาโนเทค พัฒนาขึ้น ให้เครื่องมือดังกล่าว สามารถวัดค่ารสสัมผัสพื้นฐานที่มนุษย์จะได้รับจากลิ้นสัมผัส ได้แก่ รสเปรี้ยว รสหวาน รสเค็ม รสเผ็ด และรสอูมามิหรือรสอร่อย
อีเซนตส์ (Esenss) ยังสามารถวัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ที่มีองค์ประกอบทางเคมีที่สามารถกระตุ้นให้ เกิดความอยากอาหารได้ เพื่อนำไปทดสอบและประเมินประสิทธิภาพของอาหารไทย โดยจำลองการรับรู้รสอร่อยของมุษย์ อาศัยการรับรู้ผ่านเซนเซอร์ทางเคมีไฟฟ้า นำไปประมวลผลในระบบคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์โครงข่ายประสาทเทียม และนำมาประมวลผลร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านรสชาติอาหาร เพื่อออกแบบให้เครื่องสามารถตรวจสอบรสอร่อยของอาหารแต่ละชนิดได้ และจะช่วยสร้างมาตรฐานอาหารไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีและเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่นิยมมากที่สุดจากผู้บริโภค ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม งาน Nanotech 2015 มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานทั้งภาคธุรกิจและนักวิจัยจากทั่วโลกมากกว่า 50,000 คน ตลอดการจัดงานทั้ง 3 วัน โดยพิธีเปิดจะเริ่มขึ้นในวันที่ 28 มกราคม 2558 ซึ่ง ประเทศไทย โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและผลงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากงานวิจัยอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน สำหรับรูปแบบของการจัดแสดงนิทรรศการของประเทศไทย ในปีนี้จัดภายใต้แนวคิด “Nanotechnology in Thailand: Convergent Technologies for Sustainable Development” หรือ "นาโนเทคโนโลยีในประเทศไทย : การหลอมรวมเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ผู้เผยแพร่ข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
http://www.most.go.th/main/index.php/organization-news/4309-qq-.html
ที่มา: http://www.thaigov.go.th