มท.2 มอบนโยบาย รองผู้ว่าฯ ใหม่ เน้นการทำงานเชิงรุก ยึดหลักธรรมาภิบาล บูรณาการร่วมทุกภาคส่วนในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนงานนโยบายรัฐบาล

ข่าวทั่วไป Friday January 30, 2015 11:43 —สำนักโฆษก

วันนี้ (30 ม.ค.58) เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 1 ศาลาว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิด “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้บริหารระดับต้นที่ได้รับ

การแต่งตั้งใหม่ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์การปฏิบัติราชการ และเตรียมความพร้อมในการดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้นของกระทรวงมหาดไทย โดยผู้บริหารระดับต้นที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ในครั้งนี้ มีจำนวน 67 คน ประกอบด้วย รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รองอธิบดีกรมที่ดิน รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง รองผู้ว่าราชการจังหวัด 62 คน และ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงมหาดไทย 2 คน

ในโอกาสนี้ นายสุธี มากบุญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับผู้บริหารระดับต้นที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักที่จะช่วยผู้บริหารระดับสูงขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล นโยบายของกระทรวงมหาดไทย นโยบายของกรม และนโยบายของจังหวัด ให้บังเกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติต่อไป พร้อมทั้งได้มอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติราชการ โดยยึดหลักปฏิบัติของรัฐบาล “ทำก่อน ทำจริงจัง ทำทันที บังเกิดผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว และยั่งยืน” รวมทั้งได้เน้นย้ำถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม

ในประเด็นสำคัญ ดังนี้

1) การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ เน้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถาบันหลักของชาติ ป้องกันการล่วงละเมิดสถาบัน และส่งเสริมการน้อมนำแนวทางตามพระราชดำริไปสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประชาชน เช่น โครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ โครงการปวงประชาเป็นสุข ด้วยพระบารมี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โครงการส่งเสริมและพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เป็นต้น และเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 จึงขอให้เชิญชวนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่านเนื่องในวโรกาสดังกล่าว 2) การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ภายใต้หลักการที่ว่า “ความเห็นต่างได้ แต่ต้องอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข” ซึ่งในการดำเนินงานต้องอาศัยกลไกต่างๆ ในพื้นที่ ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมมือกันลดความขัดแย้ง และส่งเสริมให้มีความปรองดอง ความรักและสามัคคี รวมทั้งส่งเสริมการปลูกฝังจิตสำนึกค่านิยมหลัก 12 ประการ ให้กับเยาวชนและประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในชีวิตประจำวัน 3) การสร้างความโปร่งใสและป้องกันการทุจริต กระทรวงมหาดไทยได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยให้มีการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของหน่วยงานทุกระดับในพื้นที่อย่างเข้มข้น เช่น การจัดทำคู่มือการให้บริการประชาชน การยกย่องบุคลากรต้นแบบในการต่อต้านการทุจริต และการรณรงค์กิจกรรม “ไม่ให้ ไม่รับ” เป็นต้น โดยดึงภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน วิชาการ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความโปร่งใสในพื้นที่ รวมทั้งมีการกำกับดูแล การใช้จ่ายงบประมาณของท้องถิ่นให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรการต่างๆ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างทั่วถึง 4) การป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ให้ขับเคลื่อนแผนงาน/โครงการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดกระทรวงมหาดไทย ปี 2558 ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ โดยบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่หมู่บ้าน/ชุมชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ของตนเอง 5) การเชื่อมโยงและบูรณาการแผนในระดับพื้นที่ (Area based) ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยให้พิจารณาถึงความสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด สภาพปัญหาความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป็นลำดับแรก 6) การดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ให้เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในทุกมิติ ให้เกิดความต่อเนื่องและเห็นผลอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม โดยมีการจัดระบบเชื่อมโยงเครือข่ายลงไปถึงระดับตำบล หมู่บ้าน (Drill Down) พร้อมทั้งจัดทำฐานข้อมูลการบริการและแก้ไขปัญหาร้องเรียน/ร้องทุกข์ และเชื่อมโยงบูรณาการข้อมูลร่วมกับศูนย์บริการอื่นๆ ในพื้นที่ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิงรุก 7) การแก้ปัญหาขยะ ให้เร่งแก้ไขปัญหาขยะ ในพื้นที่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการทิ้งขยะ การคัดแยกขยะ และการลดปริมาณขยะ โดยสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนตระหนักร่วมกันว่าปัญหาขยะคือปัญหาของทุกคนที่จะต้องร่วมมือกันแก้ไข 8) การจัดตลาดนัดชุมชน ให้มีการประสานความร่วมมือและบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานในการสนับสนุนการจัดตลาดนัด เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการจัดงาน รวมทั้งเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน 9) การบริหารจัดที่ดิน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขจัดความยากจน และแก้ปัญหาการใช้ที่ดินทำกินของเกษตรกร ให้จังหวัดเร่งดำเนินการตรวจสอบสภาพพื้นที่ และการครอบครองที่ดินทำกิน โดยเฉพาะพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชุมพร นครพนม และมุกดาหาร ให้ดำเนินการตามขั้นตอน ระยะเวลา และหลักเกณฑ์ที่คณะอนุกรรมการจัดที่ดินกำหนด สำหรับงานบริการด้านที่ดิน ให้เน้นความถูกต้อง รวดเร็ว โปร่งใส ใส่ใจบริการ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี 10) การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้จังหวัดที่จะจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะแรกขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งขอให้จังหวัดอื่นๆ ที่จะจัดตั้งเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในระยะต่อไป เตรียมความพร้อมในการจัดตั้ง “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ” ทั้งในเรื่องสถานที่ตั้งและบุคลากรที่จะปฏิบัติงาน และ 11) ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ให้จังหวัดเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งภัยหนาว ภัยแล้ง ปัญหาไฟป่าและหมอกควัน รวมทั้งมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเมื่อเกิดภัยพิบัติอย่างทันท่วงที

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเรียนรู้การทำงานจากประสบการณ์ที่ผ่านมา และดึงข้อดีมาเพิ่มศักยภาพ และปรับปรุงข้อเสียมาเป็นการพัฒนางาน พัฒนาตน พัฒนาคน พัฒนาพื้นที่ รวมทั้งพัฒนาเทคนิคในการบริหารงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้สำเร็จและมีผลงานได้ตามเป้าหมายที่กำหนด ทั้งนี้ ขอให้ยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ควบคู่ไปกับการยึดหลักธรรมาภิบาลในการทำงาน ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน และพร้อมขับเคลื่อนการทำงานตามนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในระดับพื้นที่ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อบังเกิดประโยชน์ต่อทางราชการและประโยชน์สุขต่อประชาชนต่อไป

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ