สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดการเสวนาเรื่อง "ปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน" โดยมีพลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร. รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) รวมทั้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียนและผู้ปกครอง ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมการเสวนาผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาต่างๆ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2558 ที่ห้องคอนเวนชั่น
พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก เพราะประเทศและรัฐบาลลงทุนด้านการศึกษากว่า 5 แสนล้านบาท แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนตกต่ำ ผลการประเมินการศึกษาไทยของสถาบันทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกยังอยู่ในอันดับไม่ดีนัก ซึ่งการศึกษาขั้นพื้นฐานถือเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะช่วยตอบโจทย์การพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพในการเรียนต่อ เพื่อการมีงานทำ และเพื่อดำรงชีวิตประจำวันอย่างรู้เท่าทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขหลายประการ เช่น การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม การจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้เรียนมีงานทำ การบริหารงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนถึงการปรับหลักสูตรและพัฒนาผู้เรียนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน คุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21
ทั้งนี้ การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน ควรเน้นปฏิรูป 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1) สิ่งแวดล้อมในห้องเรียน จะต้องจัดห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน มีโครงสร้าง เครื่องมือและอุปกรณ์ที่พร้อมใช้งาน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่เข้าร่วมโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าในการเปิดครูตู้ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าบางโรงเรียนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ส่วนโรงเรียนที่มีไฟฟ้าใช้ บางโรงเรียนต้องการแบตเตอรี่สำรองเพื่อช่วยให้การจัดการเรียนการสอนโดยครูตู้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2) การพัฒนาครู ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาครูให้มีความรู้ความสามารถ ควบคู่ไปกับการพัฒนาชีวิตครู เพื่อให้ครูมีขวัญกำลังใจในการทำงานและมีความก้าวหน้าในวิชาชีพ
3) หลักสูตร จะต้องมีการปรับปรุงให้ทันสมัย โดยยึดแนวทางการพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลก การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ดร.สุรัฐ ศิลปอนันต์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาเปรียบเสมือนการทำสงครามที่มีประเทศไทยเป็นเดิมพัน เนื่องจากการศึกษาเป็นกระบวนการผลิตคนให้สามารถสร้างความมั่นคงและมั่งคั่งให้กับประเทศ การศึกษาเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยพัฒนาคนให้มีคุณภาพ มีมาตรฐาน และมีศักยภาพในการแข่งขันในระดับประเทศและระดับนานาชาติทั้งทางด้านวิชาการ การทำงาน และการใช้ชีวิต รวมทั้งการสร้างภาวะความเป็นผู้นำในระดับเวทีโลกด้วย ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และหยุดไม่ได้จนกว่าจะสำเร็จ จึงมีข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้
- การเรียนการสอนที่มีคุณภาพ ซึ่งมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การถ่ายโอนความรู้จากครูสู่นักเรียน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้จริงและรู้อย่างลึกซึ้ง พร้อมทั้งมีทักษะในศตวรรษที่ 21
- การพัฒนาครู จะต้องมีการฝึกอบรมและพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งทั่วโลกต่างก็มีความเห็นตรงกันว่า การลงทุนเกี่ยวกับครูเป็นเรื่องที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อผู้เรียนได้มากที่สุด เรียกได้ว่า ครูคือคานงัดของระบบการศึกษาและการปฏิรูปการศึกษา อย่างไรก็ตามต้องการให้มีการสร้างบรรยากาศภายในห้องเรียนและในโรงเรียนที่เกื้อกูลต่อการทำงานของครู ตลอดจนผู้บริหารควรให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่ครูในการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ด้วย
- ระบบวัดและประเมินผล จะต้องวัดจากการเรียนการสอนในห้องเรียน กล่าวคือวัดจากการสอนของครู และประเมินผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องลดภาระงานของครู เพื่อให้ครูได้อยู่ในห้องเรียน อยู่กับนักเรียน ซึ่งในปัจจุบันครูจะต้องทำงานหลายอย่างนอกเหนือจากการสอน เป็นการดึงครูออกจากห้องเรียน ถือเป็นการบั่นทอนการปฏิรูปการศึกษาเป็นอย่างมาก
ดร.รังสรรค์ มณีเล็ก รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า โจทย์ของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ จัดการศึกษาเพื่อให้ผลผลิตคือนักเรียนมีคุณภาพตามที่สังคมต้องการ แต่สิ่งที่เรากำลังประสบคือคุณภาพผู้เรียนยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ จึงขอเสนอแนะประเด็นการปฏิรูปเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีศักยภาพและมีคุณภาพมากขึ้น ดังนี้
- การปฏิรูปการเรียนการสอนและการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องดำเนินการทั้งในส่วนของหลักสูตร ที่จะต้องปรับปรุงหลักสูตรให้มีความทันสมัย ให้ครูสามารถนำหลักสูตรที่เป็นมาตรฐาน (Standards-Based) ไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้และจัดหาเนื้อหาสาระที่เหมาะสมกับมาตรฐาน ปรับปรุงการวัดและประเมินผลให้สอดคล้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป พัฒนาปรับปรุงสื่อและแหล่งเรียนรู้ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม โดยจะต้องสร้างทักษะการเป็นนักจัดการที่ดีให้แก่ครู เพื่อให้ครูมีความรู้เกี่ยวกับสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่ดี ให้ครูสามารถแนะนำการใช้และการเข้าถึงสื่อ/แหล่งเรียนรู้นั้นๆ แก่ผู้เรียนได้
- การบริหารจัดการ ซึ่งประกอบด้วยการบริหารจัดการบุคลากรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ กล่าวคือ ในเชิงปริมาณ หมายถึงอัตรากำลังคน ที่จะต้องมีการปรับหลักเกณฑ์อัตรากำลังครูในสถานศึกษา จากเกณฑ์จำนวนนักเรียนต่อห้องเรียน เป็นการนำภาระงานมาเป็นเกณฑ์ด้วย เช่น ภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการเรียนการสอน จะอยู่ในส่วนของอัตรากำลังสายครู แต่ส่วนใดที่ไม่ใช่การเรียนการสอน จะต้องอยู่ในอัตรากำลังสายสนับสนุน เช่น ธุรการ พัสดุ การเงิน ซึ่งขณะนี้ สพฐ.กำลังหารือเรื่องเกณฑ์อัตรากำลังกับสำนักงบประมาณ ในส่วนของคุณภาพ คือการพัฒนาครูให้มีความรู้และมีความเก่งมากขึ้น ส่วนผู้บริหารก็จะต้องสามารถบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น และการบริหารจัดการงบประมาณ โดยยึดหลักจัดสรรงบประมาณให้มีความเสมอภาค เป็นธรรม และพอเพียงต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ควรแก้ปัญหาเชิงรุกในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ไกรยศ ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญนโยบายด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ได้ให้ข้อเสนอเชิงนโยบายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อความพร้อมในการประกอบอาชีพ 4 ประการ ได้แก่
1) การศึกษาขั้นพื้นฐานควรให้ความสำคัญกับการศึกษาของเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อระดับอุดมศึกษา
2) ควรขยายหลักสูตรท้องถิ่นให้โรงเรียนมีอิสระในการจัดการศึกษาเพื่อส่งเสริมอาชีพหลังจบการศึกษาให้มากขึ้น
3) การศึกษาขั้นพื้นฐานควรมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่มากขึ้น
4) การปฏิรูปตามแนวคิดนี้ควรมีการทดลองนำร่องในเขตพื้นที่การศึกษานำร่องที่ สพฐ.กำลังดำเนินการอยู่ เพื่อสร้างต้นแบบสู่การขยายผลในระดับประเทศต่อไป
ดร.วิชัย แสงศรี ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุบลราชธานี เขต 1 กล่าวในการเสวนาผ่านระบบ Video Conference ว่า การปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานควรเริ่มที่ครู โดยจัดให้มีครูครบชั้นเรียนและมีครูที่จบตรงกับสาขาที่สอนอย่างเพียงพอ มีการพัฒนาครูในกลุ่มสาระวิชาต่างๆ และตามความสนใจ เน้นนวัตกรรมการเรียนการสอนจากครูดีครูเก่ง คัดเลือกครูต้นแบบเพื่อเป็นแกนนำในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกลุ่มครูด้วยกัน ตลอดจนปลุกจิตสำนึกและจิตวิญญาณความเป็นครู นอกจากนี้ ควรมีการนำนโยบายรัฐบาลและนโยบายกระทรวงศึกษาธิการไปสู่การปฏิบัติ เช่น การปลูกฝังค่านิยมคนไทย 12 ประการด้วยการปฏิบัติจริง เพื่อให้เด็กเกิดทักษะที่พึงประสงค์และสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทั้งนี้ สพป.อุบลราชธานี เขต 1 ยังได้สร้างเครือข่ายการจัดการศึกษาโดยมีทุกภาคส่วนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พิษณุโลก เขต 1 กล่าวในการเสวนาผ่านระบบ Video Conference ว่า ควรนำกระบวนการ After Action Review (AAR) มาช่วยปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนในห้องเรียนและในโรงเรียน ซึ่ง AAR เป็นเครื่องมือถอดบทเรียนหรือองค์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัตินั้นๆ ให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป นอกจากนี้ขอให้ลดภาระงานของครู โดยเฉพาะภาระงานที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน เพื่อให้ครูได้จัดการเรียนการสอนในห้องเรียนอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งจัดหาผู้บริหารไปช่วยดูแลโรงเรียนขนาดเล็กที่ไม่มีผู้บริหาร เพื่อลดภาระงานของครูที่จะต้องมาทำหน้าที่ผู้บริหารโรงเรียนอีกหน้าที่หนึ่ง โดยอาจจะหมุนเวียนผู้บริหารโรงเรียนบริเวณใกล้เคียงไปช่วยดูแลไปพลางก่อน
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th