สังคมจังหวัด ณ โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ได้จัดทำนโยบาย ที่จะดำเนินการในระยะ ๑ ปี เพื่อขับเคลื่อนภารกิจเร่งด่วนและวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาว และมีเป้าหมายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาความขัดแย้งและความเดือดร้อนทั้งหลายของประชาชน โดยจะสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของภาครัฐ การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การพัฒนาระบบการคุ้มครองทางสังคม การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต การเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ นอกจากนี้ ยังได้ยึดแนวทางของนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งเน้นยุทธศาสตร์ “ทำก่อน ทำจริง ทำทันที เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมกันสร้างสังคมไทยที่ “มุ่งสู่สังคมคุณภาพ บนพื้นฐานความรับผิดชอบร่วมกัน” และมีความมั่นคงอย่างแท้จริง ตามวิสัยทัศน์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ (ก.ส.ค.) ได้จัด “การสัมมนากรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมทั่วประเทศ” เพื่อขับเคลื่อนงานสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับแนวนโยบายรัฐบาล ให้แก่คณะกรรมการตามกฎหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมทั่วประเทศ ใช้เป็นแนวทางในการจัดสวัสดิการสังคมทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ รวมทั้งเพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางพัฒนาส่งเสริมและสนับสนุนองค์กรสาธารณประโยชน์องค์กรสวัสดิการชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามนโยบายรัฐบาล และพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐
พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวต่อไปว่า พ.ร.บ. ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมฉบับดังกล่าว เป็นกฎหมายแม่บทด้านสวัสดิการสังคมที่ได้ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเกิดความมั่นคงทางสังคม ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดนโยบายในการสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมสวัสดิการ (Welfare Society) ที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม และกำหนดเป้าหมาย ในการทำให้คนไทยได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า (Welfare for All) ภายในปี ๒๕๖๐ ซึ่งการมีกฎหมายฉบับนี้จะเกิดผลในทางปฏิบัติได้ ต้องสร้างความเข้าใจของทุกฝ่ายให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม ความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคส่วนต่างๆ การยินยอมพร้อมใจของประชาชนในการเสียภาษีและเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม
“ขอให้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ ได้ร่วมมือกับรัฐบาล จังหวัด ท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน อาสาสมัครและบุคลกรผู้ปฏิบัติงานในสายวิชาชีพต่าง ๆ ในพื้นที่ ในการผลักดันการขับเคลื่อนงานดังกล่าว เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมสวัสดิการ ที่ทุกฝ่ายเข้ามารับผิดชอบร่วมกัน ในการทำให้ประชาชนทุกคนได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า คือ มีหลักประกันขั้นพื้นฐานรองรับในการดำรงชีวิตที่สมบูรณ์ในทุกเรื่อง ซึ่งถือได้ว่า เป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปสังคมไทย และสังคมไทยจะเป็นสังคมที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำ เป็นสังคมที่มีความเป็นธรรมและสันติสุขได้ในที่สุด ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนได้ดำเนินงานอย่างจริงจัง นอกจากจะสามารถคืนความสุขให้แก่ประชาชนแล้ว ยังจะสร้างความสุขให้แก่คนทุกคนได้อย่างทั่วถึงอีกด้วย” พลตำรวจเอกอดุลย์ กล่าวท้าย
ที่มา: http://www.thaigov.go.th