รมว.แรงงานและทรัพยากรมนุษย์ภูฏาน เข้าเยี่ยมคารวะ รมว.ศธ.

ข่าวทั่วไป Monday February 2, 2015 15:39 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ให้การต้อนรับนายนีมา ซังเกย์ เชนโป (H.E. Ngeema Sangay Chenpo) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของราชอาณาจักรภูฏาน และคณะ พร้อมทั้งหารือความร่วมมือด้านการศึกษา เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มกราคม 2558 ที่ห้องรับรองจันทรเกษม

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับ รมว.แรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของราชอาณาจักรภูฏาน ในโอกาสที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ซึ่งภูฏานและไทยมีความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 25 ปี และมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดีในด้านวัฒนธรรม การศึกษา รวมถึงในระดับราชวงศ์ รัฐบาล และประชาชน

กระทรวงแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ของภูฏาน และกระทรวงศึกษาธิการของไทย มีการดำเนินความร่วมมือด้านการศึกษา โดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนครูผู้สอนและมีความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เช่น การลงนามในบันทึกการประชุมหารือ (Minutes of the Meeting) ซึ่ง สอศ.ได้รับอาสาสมัครครูภูฏานมาสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นอกจากนี้ ครูจากสถาบันอาชีวศึกษาไทยได้รับการฝึกอบรมจาก Technical Training Institutes และ National Institutes for Zorig Chusum (Art & Crafts) ซึ่งถือเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างกันได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการดำเนินงานระหว่างสองกระทรวง เพื่อเป็นการขยายความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน โดยมีความตั้งใจและความหวังว่าภูฏานและไทยจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันต่อไป

รมว.แรงงานและทรัพยากรมนุษย์ภูฏาน กล่าวว่า ขณะนี้มีครูอาสาสมัครชาวภูฏานมาสอนภาษาอังกฤษในสถาบันอาชีวศึกษาไทยประมาณ 160 คน และจะเพิ่มเป็น 400 คนในอนาคต ผู้ที่จบการศึกษาจากวิทยาลัยครูของภูฏานจัดเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าและมีศักยภาพ พร้อมที่จะสร้างความเข้มแข็งและเป็นประโยชน์กับการศึกษาของไทยได้

อย่างไรก็ตาม มีปัญหาใน 2 ประเด็นที่ต้องการให้กระทรวงศึกษาธิการไทยพิจารณาให้การสนับสนุน คือ 1) การจัดทำวีซ่าให้ชาวภูฏานที่เป็นอาสาสมัครมาสอนในประเทศไทย ซึ่งอาศัยในประเทศไทยได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาวีซ่าหมดอายุ ครูอาสาสมัครชาวภูฏานจะต้องต่อระยะเวลาการอาศัยในประเทศไทยเพื่อไม่ให้ติดปัญหาด้านกฎหมาย จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาการแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ 2) นักศึกษาที่จบการศึกษาจากภูฏานไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู (Teaching License) ยกเว้นผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันฝึกอบรมครู แต่ผู้ที่จะเป็นครูผู้สอนในประเทศไทยต้องมีใบประกอบวิชาชีพครู จึงขอให้มีการหารือระหว่างสองกระทรวงเพื่อพิจารณาถึงการดำเนินการสำหรับปัญหาดังกล่าวต่อไป

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ