วันนี้ (5 ก.พ.58) เวลา 11.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล ร้อยเอก ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พันเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม นายวิมล จันทรโรทัย รองประกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมเรื่อง “การป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง" โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและโฆษกกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้มีการสำรวจตรวจสอบและประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย และจังหวัดนครสวรรค์ รวม 30 อำเภอ 200 ตำบล 2,091 หมู่บ้าน (คิดเป็นประมาณ 2.8% ของหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทย 74,963 หมู่บ้าน) ขณเดียวกันได้มีการเตรียมการสำรวจและตรวจสอบหมู่บ้านที่เคยประสบภัยแล้งซ้ำ อีกประมาณจำนวน 37,000 หมู่บ้าน
อีกทั้งกระทรวงมหาดไทย ได้มีการสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งโดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค ที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ 2557 ที่คงค้างอยู่ และปี 2558 ได้ดำเนินการสนับสนุนเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กดังกล่าว จำนวน 7,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการเจาะบ่อบาดาลและซ่อมแซมบ่อบาดาล รวมทั้งการทำแก้มลิง และการสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้า
ส่วนการเตรียมความพร้อมในบทบาทของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ได้มีการจัดสรรงบประมาณ จำนวน 1,400 ล้านบาท ในการดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ การขุดลอกคูคลองต่าง ๆ และการทำแก้มลิง เป็นต้น ขณะเดียวกันได้มีการสำรวจตรวจสอบอุปกรณ์ในการที่จะดำเนินการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้งเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างทันท่วงทีมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้มีการบริหารจัดการร่วมกับส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ จะต้องทำหน้าที่ในการบูรณาการกับทุกภาคส่วน และประชาชนในพื้นที่
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างถูกต้อง รวมทั้งให้มีการใช้ช่องทางอื่นชี้แจงหรือแจ้งกรณีที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดและอำเภอทั่วประเทศ ก็สามารถที่จะมาขอความร่วมมือและขอความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของประชาชนได้เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตามในหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของกระทรวงมหาดไทยจะคอยอำนวยความสะดวกและดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนหมู่บ้านที่มีแหล่งน้ำขนาดเล็กอยู่ก็ได้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนและกลุ่มผู้ใช้น้ำหรือผู้บริหารจัดการน้ำในแต่ละหมู่บ้าน ให้บริหารจัดการน้ำอย่างมีเหตุ มีผลเกิดประโยชน์สูงสุด สอดคล้องและตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ในการดำเนินการดังกล่าวกระทรวงมหาดไทยก็ได้มีการทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วนเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ จากการที่รัฐบาลได้มีนโยบายในการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาหมู่บ้านต่าง ๆ นั้น ในปี 2558 มีหมู่บ้านเป้าหมาย ประมาณ 20,000 หมู่บ้าน ได้มีการดำเนินการในเรื่องการจัดการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยตนเอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทั้งในส่วนของน้ำอุปโภคและบริโภค ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป
นายวิมล จันทรโรทัย รองประกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้กล่าวถึง สถานการณ์และมาตรการในการป้องกันแก้ไขภัยแล้งของกระทรวงเกษตรฯ ว่า การที่ได้มีการสำรวจพื้นที่ทางการเกษตรซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ชัยนาท และลพบุรี จำนวน 1.46 ล้านไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว เกษตรกร 113,358 ราย พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,062,331 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,011,365 ไร่ พืชไร่ 50,966 ไร่
สำหรับมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการดำเนินการในการเตรียมความพร้อมรับมือกับเรื่องดังกล่าวเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้ ได้วางมาตรการในการจัดสรรน้ำ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนเมื่อสิ้นฤดูฝนมีน้อย จึงได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยวางแผนจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง (30 เมษายน 58) คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4,202 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสนับสนุนการทำนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2558 และ คงเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าแม่กลอง 2,616 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอสนับสนุนการทำนาปีตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558
ทั้งนี้การวางแผนในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ทำให้พื้นที่การเพาะปลูกนาปรังในปีนี้ลดจากปีที่แล้ว โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้มีการทำนาปรังได้ประมาณ 6 ล้านไร่ ซึ่งปัจจุบันมีการทำนาปรังในพื้นที่กำหนดไว้ ประมาณ 6.51 ล้านไร่ เกินจากปริมาณแผนที่วางไว้เล็กน้อย ขณะที่ปีที่แล้วมีการนำปรังประมาณ 12.61 ล้านไร่ ดังนั้นจะเห็นว่าการเตรียมปีนี้ในการงดส่งน้ำเข้าไปในพื้นที่นาปรังตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2557 เป็นต้นมาได้ลดพื้นที่การเพาะปลูกนาปรังได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
รวมทั้ง คณะกรรมการจัดสรรน้ำของกรมชลประทานได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ได้ดำเนินการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำ ควบคู่กับมาตรการการงดส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง โดยการบริหารจัดการน้ำตามแผนการจัดการน้ำ โดยมีอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยวที่มีปริมาณน้ำน้อยไม่สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเพาะปลูกได้รวม 10 แห่ง ได้แก่ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ , เขื่อนกระเสียว จ.สุพรรณบุรี ,เขื่อนทับเสลา จ.อุทัยธานี,เขื่อนห้วยหลวง จ.อุดรธานี ,เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ,เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ และเขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนลำตะคอง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ จ.นครราชสีมา ซึ่งบริหารจัดการน้ำโดยคณะกรรมการจัดการน้ำชลประทาน(JMC) ของแต่ละโครงการฯ ที่มีเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการ ร่วมกันวางแผนจัดสรรน้ำให้เพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศน์ตลอดช่วงฤดูแล้ง ซึ่งปัญหาการขาดแคลนน้ำจะไม่เกิดขึ้น หากเกษตรกรงดทำนาปรังตามมติของคณะกรรมการ JMC
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรฯ ยังได้มีมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้ง เช่น การวิเคราะห์ ประเมินและรายงานสถานการณ์ถึงความรุนแรงของผลกระทบจากภัยแล้งทั้งในระดับพื้นที่ ระดับลุ่มน้ำ และระดับชุมชน โดยมีการจัดทำข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยทางเกษตรกรรมแลติดตามเฝ้าระวังประเมินสถานกาณณ์และรายงานสถานการณ์ โดยกรมชลประทาน กรมฝนหลวง กรมฝนหลวง กรมอุตุนิยมวิทยา ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรระดับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และระดับจังหวัด
รวมทั้งเตรียมรับสถานการณ์โดยการสื่อสารชี้แจงเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความรู้ เทคนิควิธีการปรับตัวและการลดผลกระทบ (Adaptation&mitigation Communications) แก่ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่นอกเขตชลประทาน โดยกรมส่งเสริมการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งนี้ ส่วนกลาง มีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานกลางในการประสานการดำเนินงานในระดับกระทรวงในการติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนภัย ส่วนภูมิภาค มีศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัด โดยมีสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด เป็นหน่วยงานกลางในระดับจังหวัดในการรายงานและการให้ความช่วยเหลือ
สำหรับมาตรการในปีนี้ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การพัฒนาปรับปรุงขุดลอกแหล่งน้ำนอกพื้นที่เขตชลประทาน ให้สามารถเก็บกักน้ำได้ 2.3 ล้าน ลบ.ม. แผนเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ 1,900 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 295 คัน ทั้งนี้ได้ดำเนินการสนับสนุนช่วยเหลือติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 49 คัน เตรียมความพร้อมปฏิบัติการฝนหลวง โดยจะเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ขณะเดียวกันได้มีการสร้างหน่วยเคลื่อนที่เร็วของกรมฝนหลวงขึ้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยพร้อมที่จะออกดำเนินการได้ทันที ส่วนมาตรการในการช่วยเหลือในขณะที่เกิดภัยแล้งขึ้น ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดการดำเนินการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบภัยแล้งปี 2557 – 2558 โดยการจ้างแรงงานในพื้นที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในขณะที่มีการงดการเพาะปลูกนาปรังโดยได้มีการจ้างแรงงานไปแล้วทั้งสิ้น 32,562 คน คิดเป็น 74 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งมีโครงการเสริมอาชีพให้เกษตรกรโดยมีการสนับสนุนพันธุ์สัตว์ พันธุ์ปลา เมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว และมีการฝึกอบรมอาชีพภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร รวมถึงรัฐบาลยังได้อนุมัติโครงการในการขับเคลื่อนการดำเนินการโครงการสร้างรายได้และพัฒนาการเกษตรแก่ชุมชนเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง ในวงเงิน 3,173 ล้านบาท จำนวน 3,052 ตำบล ใน 58 จังหวัด ตำบลละ 1 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบปัญหาภัยแล้งซ้ำซากให้มีรายได้และสร้างโอกาสให้ชุมชนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชน อีกทั้งมีการสนับสนุนเงินทุนให้กับสหกรณ์ เพื่อนำไปให้แก่สมาชิกที่ประสบภัยแล้งได้กู้ยืมเพื่อใช้ลงทุนพัฒนาอาชีพที่เป็นผลตอบแทนในระยะสั้นโดยไม่คิดดอกเบี้ยทั้งหมด 65 ล้านบาท
นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ได้กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์น้ำเป็นแหล่งน้ำต้นทุนทั่วประเทศว่า ประเทศไทยมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ จำนวน 33 แห่ง และมีอ่างเก็บน้ำที่จะต้องบริหารจัดการในระบบลุ่มน้ำ 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มเจ้าพระยา จำนวน 4 อ่างเก็บน้ำ และลุ่มแม่กลอง จำนวน 2 อ่างเก็บน้ำ ส่วนอ่างเก็บน้ำที่เหลือ จำนวน 27 แห่ง เป็นลักณะของการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำเชิงเดี่ยว ซึ่งการวางแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ชลประทาน เมื่อสิ้นฤดูแล้งกรมชลประทานจะให้ความสำคัญในเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งจะต้องมีใช้ตลอดฤดูแล้งและช่วงต้นฤดูฝน เพราะบางครั้งบางปีฝนอาจจะมาล่าช้าหรือขาดช่วง จึงจำเป็นที่จะต้องให้มีน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอด รวมถึงการรักษาระบบนิเวศด้วย
พร้อมกันนี้ ได้มีการเตรียมน้ำสำหรับฤดูกาลเพาะปลูกซึ่งกรมชลประทานให้ความสำคัญจะต้องไม่ส่งผลกระทบและความเสียหายต่อการเพาะปลูก ทั้งนี้เมื่อมีน้ำต้นทุนสำหรับการเริ่มเพาะปลูกก็จะทำให้สามารถเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลากหรือฤดูมรสุม อย่างไรก็ตามหากอ่างเก็บน้ำใดที่มีปริมาณน้ำเหลือก็จะมีการสนับสนุนในฤดูแล้ง สำหรับสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน ขณะนี้มีน้ำใช้การทั้งหมด จำนวน 1,9470 ล้าน ลบ.ม. ใช้น้ำตามแผนวันละ 66 ล้าน ลบ.ม. รวมใช้น้ำทั้งหมดจนสิ้นฤดูแล้ง จำนวน 5,819 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นจะเหลือน้ำเมื่อสิ้นฤดูแล้ง จำนวน 13,651 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งคาดว่ามีน้ำพอเพียงสำหรับสนับสนุนการทำนาปีตามฤดูปกติ รวมทั้งการอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบเวศด้วย
นายปราณีต ร้อยบาง อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ได้มีการดำเนินการไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่แล้งซ้ำซากไปแล้ว จำนวน 31 จังหวัด ซึ่งรวม 8 จังหวัด ที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินภัยแล้งด้วย สำหรับการดำเนินงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจำนวน 3 โครงการ หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาภัยแล้งได้ ดังนี้ 1. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจำนวน 305 แห่ง เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีประชาชนได้รับประโยชน์ 244,000 คน รวม 61,000 ครัวเรือน 2.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 323 แห่งเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีประชาชนและนักเรียนได้รับประโยชน์258,400 คน รวม 64,600 ครัวเรือน 3. โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 693 แห่งเพื่อสนับสนุนการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ให้มีแหล่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชผักในการเลี้ยงชีพและประกอบอาชีพ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ 66,250 ไร่และเกษตรกรได้น้ำทำการเกษตร 3,800 ครัวเรือน
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียพร้อมของเคลือข่ายของกรมทรัพยากรน้ำในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยดำเนินการเตรียมพร้อมชุดเจาะบ่อน้ำบาดาล จำนวน 86 ชุด รวมทั้งชุดเป่าล้างทำความสะอาดบ่อน้ำบาดาล ซ่อมแซมระบบประปา บาดาล จำนวน 85 ชุด และมีชุดปรับปรุงคุณภาพน้ำเคลื่อนที่ที่สามารถไปให้บริการประชาชนที่เดือดร้อนในเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค จำนวน 18 ชุด ตลอดจนหากเกิดเหตุฉุกเฉินในกรณีที่ขาดแคลนน้ำ ก็มีรถบรรทุกน้ำไว้สำหรับบริการประชาชน จำนวน 93 คัน และมีจุดจ่ายน้ำถาวรที่ได้เตรียมการไว้อีกจำนวน 87 แห่ง ขณะเดียวกันมีระบบน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียน จำนวน 2,600 แห่ง เป็นต้น
ด้าน นายบุญจง จรัสดำรงนิตย์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันพบว่าสถานการณ์น้ำยังอยู่ในภาวะปกติเหมือนเช่นที่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งคาดการณ์ในเรื่องภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งนี้อาจจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงในบางพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการประสานงานและเตรียมความพร้อมด้านต่าง ๆ ในการรับมือเรื่องดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว โดยกรมทรัพยากรน้ำ ได้เตรียมความพร้อมและช่วยเหลือป้องกันภัยแล้งไว้ล่วงหน้า เช่น การสูบเก็บกักน้ำในลำน้ำสายหลักเข้าไปเก็บไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติของชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งมีการรณรงค์ให้ชุมชนได้ตระหนักในการบริหารจัดการน้ำชุมชนให้มีการบริหารจัดการและจัดสรรน้ำไว้ในช่วงปลายฤดูฝนให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอตลอดฤดูแล้งที่จะเกิดขึ้นในช่วง 3- 4 เดือนข้างหน้าที่จะถึงนี้ ตลอดจนให้มีการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำและรักษาคุณภาพน้ำให้มีคุณภาพที่ใช้งานได้ตลอดช่วงฤดูแล้งเช่นกัน ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำ ได้มีการขุดลอกแหล่งน้ำ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ จำนวน 1,283 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงเดือนมีนาคม 2558 นี้ และสามารถที่จะเก็บน้ำป้องกันภัยแล้งในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งได้ในปีถัดไปด้วย
พันเอก คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของกระทรวงกลาโหมว่า กระทรวงกลาโหม โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมเป็นหน่วยสนับสนุนภารกิจของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติ และเป็นหน่วยสนับสนุนตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ซึ่งได้เตรียมพร้อมสนับสนุนการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการทหารบก มีความห่วงใยผลกระทบต่อภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนอย่างมาก โดยได้กำชับและสั่งการในทุกการประชุมให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ เตรียมการและปฏิบัติตามแผนบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม โดยให้ประสานงานกับทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบแผนงานของแต่ละหน่วย ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2558 ของศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการประสานสอดคล้องกันในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือครอบคลุมและเข้าถึงทุกพื้นที่
สำหรับแผนบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม ได้แบ่งมอบความรับผิดชอบให้ หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ อันประกอบไปด้วย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ และ กองทัพอากาศ ในการจัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของหน่วยขึ้น โดยแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบตามที่ตั้งของหน่วยทหารต่างๆ ในพื้นที่จนถึงระดับอำเภอ โดยให้นำศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยมาใช้ในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของประเทศที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งได้กำหนดการปฏิบัติสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของรัฐบาลใน ๒ ลักษณะ คือ การช่วยเหลือเชิงป้องกันและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า
ส่วนการช่วยเหลือเชิงป้องกัน ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่จะเกิดภัยแล้ง โดย กระทรวงกลาโหม ได้นำกำลังพลและยุทโธปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะทางการช่าง มาดำเนินการตามแผนงานและนโยบายของรัฐบาลในโครงการต่าง ๆ ล่วงหน้ามาแล้ว ตามที่ได้รับการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ปี 56 อาทิ โครงการขุดลอกคูคลอง โครงการสร้างฝาย โครงการขุดบ่อน้ำบาดาล โครงการพัฒนาบ่อน้ำบาดาล โครงการก่อสร้างถังเก็บน้ำ โครงการก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา โครงการกำจัดผักตบชวา โครงการปลูกป่า และ โครงการปลูกป่าชายเลน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีแหล่งน้ำธรรมชาติสำหรับการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ๆ เคยได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ดังตัวอย่างที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น ดำเนินการขุดลอกคลองตามโครงการขุดลอกแหล่งน้ำ จำนวน 260 โครงการ โครงการพลิกฟื้นผืนป่าด้วยพระบารมี
รวมทั้งได้ประยุกต์ใช้ขีดความสามารถของกำลังทางอากาศ มาใช้ในการสนับสนุนการแก้ปัญหาภัยแล้ง ทั้งในเชิงป้องกันและการช่วยเหลือเฉพาะหน้า อาทิ การใช้อากาศยาน โปรยเมล็ดพันธุ์ไม้ป่าลงในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การใช้อากาศยานสนับสนุนกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในโครงการฝนหลวง การจัดเตรียมอากาศยานพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพ สำหรับการบินลาดตระเวน การถ่ายภาพทางอากาศ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมทั้งสนับสนุนการใช้อากาศยานดับไฟป่า ซึ่งในปัจจุบันกองทัพอากาศได้จัดเครื่องบิน BT-67 เครื่องบิน AU-23 และ Alphajet ปฏิบัติภารกิจการบินฝนหลวงร่วมกับ สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร สนับสนุนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยจัดตั้งฐานปฏิบัติการฝนหลวง ณ กองบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ และโรงเรียนการบิน รวมทั้งทำการบินโปรยน้ำเพื่อสลายหมอกควัน และการบินควบคุมไฟป่า สนับสนุนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังทำการบินลาดตะเวนทางอากาศ เพื่อสำรวจพื้นที่ประสบภัยแล้ง โดย กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก จะเป็นฐานปฏิบัติการหลักในการปฏิบัติภารกิจฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้บริเวณพื้นที่ต้นน้ำของภาคเหนือตอนล่าง
ขณะที่การช่วยเหลือเฉพาะหน้า เป็นการช่วยเหลือเมื่อภัยแล้งเกิดขึ้น โดยหน่วยทหารในพื้นที่ซึ่งได้รับการแบ่งมอบตามแผนบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม เป็นหน่วยสนับสนุน สำหรับการสนับสนุนส่วนราชการและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยแล้ง ในปี 2557 ที่ผ่านมานั้น ได้แจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนที่ประสบภัยแล้งในพื้นที่ต่างๆ ไปเป็นจำนวนประมาณ 32 ล้านลิตร สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งตั้งแต่ 20 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา มี 30 อำเภอในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งหน่วยขึ้นตรงศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพได้ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนด้วยการนำรถบรรทุกน้ำไปแจกจ่ายน้ำในพื้นที่ต่างๆ รวมปริมาณน้ำจนถึงปัจจุบันประมาณ 1 ล้านลิตร นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมให้การสนับสนุนอากาศยานในการทำฝนหลวงและการป้องกันไฟป่าและหมอกควัน ที่อาจเกิดขึ้น โดยได้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น ได้มีการดำเนินโครงการ “ราษฎร์ รัฐ ร่วมใจ ช่วยภัยแล้ง” ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งด้วยการนำน้ำอุปโภคบริโภคไปแจกจ่ายให้กับประชาชนโดยความร่วมมือ 5 หน่วยงานได้แก่ กองทัพบก การประปานครหลวง การไฟฟ้านครหลวง กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกลุ่มบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยเป็นการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคประมาณ 27 ล้านลิตร ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งกว่า 20 จังหวัด สำหรับปี 2558 นี้ พลเอกอุดมเดช สีตะบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบกได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการไปเมื่อ 28 มกราคม 2558 โดยจะมีการดำเนินการไปจนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะคลี่คลาย ขณะที่กองทัพเรือ ได้ใช้เรือระบายพลขนาดใหญ่ลำเลียงน้ำจืดไปแจกจ่ายในพื้นที่เกาะต่างๆ เช่น เกาะกูด และ เกาะหมาก เป็นต้น รวมทั้งในช่วงที่ผ่านมาจากกรณีน้ำทะเลหนุนจนส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปานั้น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพเรือ ได้จัดเรือผลักดันน้ำเพื่อผลักดันน้ำทะเล ด้วย
นอกจากนี้ ยังได้ใช้วิทยุในเครือข่ายของกระทรวงกลาโหม และวิทยุสาธารณะในเครือข่ายความมั่นคง สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนต่อภัยแล้งและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เช่น โรคที่อาจเกิดขึ้นจากภัยแล้ง ไฟป่า เป็นต้น รวมทั้ง รณรงค์ให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเห็นคุณค่า อีกทั้งได้พัฒนาและเสริมสร้างเครือข่ายภาคพลเรือนเพื่อการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขึ้น ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กระทรวงกลาโหม ได้นำเทคโนโลยี Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ LINE มาจัดตั้งกลุ่ม
“ศบภ.กห. พลเรือน – ทหาร” เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการติดตามสถานการณ์สาธารภัยในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ ซึ่งจะทำให้ส่วนกลางสามารถให้การสนับสนุนหน่วยในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทันต่อสถานการณ์ รวมถึง ยังได้ประสานขอความร่วมมือกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เน็คเทค) ในการพัฒนาเว็ปไซต์เพื่อการรวบรวมและติดตามสถานการณ์สาธารณภัย ตลอดจนการแจ้งขอรับการสนับสนุนจากทหาร และการแจ้งเตือนสถานการณ์สาธารภัยด้วย ซึ่งในอนาคตหลังจากที่ผลการทดสอบได้ผลตามที่ตั้งไว้แล้ว ก็จะมีการเปิดให้บริการ Application บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อไป ซึ่งจะนำมาใช้ในการติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และการรายงานผลการปฏิบัติของหน่วยทหารในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
รวมถึงได้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างแพทย์ทหารกับกระทรวงสาธารณสุข ทำให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาโรคที่เกิดในช่วงฤดูแล้งที่ผ่านมาเป็นไปได้อย่างดี สำหรับภัยแล้งในปี 2558 นั้นหน่วยแพทย์ทหารมีความพร้อมในการออกไปให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย พร้อมขอความร่วมมือจากมวลชนประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์สาธารณภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก ด้วยการติดตามและใช้ข้อมูลจากส่วนราชการที่มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ในการนำเสนอข่าว และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสนับสนุนทั้งเชิงป้องกันและการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกัน ทั้งนี้หากประชาชนในพื้นที่ต้องการขอรับการช่วยเหลือ สามารถติดต่อหน่วยทหารในพื้นที่ที่ใกล้บ้านของตนเองได้ ซึ่งทหารพร้อมให้การช่วยเหลือเสมอ
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th