สถาบันฯสิ่งทอหนุนเจรจาการค้าเสรีไทย-ยุโรปรองรับการตัดสิทธิGSP

ข่าวทั่วไป Tuesday February 3, 2015 10:58 —สำนักโฆษก

เมื่อวันที่ 30 ม.ค.58 นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยภายในงานสัมมนา สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย ยุคไร้ GSP และ FTA ไทยควรปรับตัวอย่างไร” ว่าในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกสิ่งทอไทย และเครื่องนุ่งห่มไทยในตลาดสหภาพยุโรปนั้นต้องเผชิญกับปัญหาการส่งออกหลายประการ โดยเฉพาะที่สำคัญ ประเทศไทยถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preference) ในการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรป เนื่องจากประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง (upper-middle income) จากธนาคารโลกเป็นเวลาต่อเนื่อง 3 ปี ติดต่อกัน

การถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า (Generalized System of Preference) มีผลให้สินค้าส่งออกของไทยต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นหรือในอัตราที่สหภาพยุโรปเรียกเก็บเป็นการทั่วไป (Most Favored Nation Treatment) กับประเทศอื่นๆที่ไม่ได้มีความตกลงทางการค้ากับสหภาพยุโรปและมีผลให้สินค้าส่งออกของไทยต้องประสบกับสภาวะการแข่งขันในตลาดสหภาพยุโรปที่รุนแรงยิ่งขึ้น เนื่องจากประเทศผู้ผลิตและส่งออกหลักยังคงได้รับสิทธิ GSP เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนลาว เมียนมาร์ เป็นต้น แม้ว่าการเจรจาการเปิดเสรีการค้าไทย-สหภาพยุโรปจะล่าช้าออกไป แต่ไทยต้องเตรียมความพร้อมในการเจรจา รวมทั้งต้องเร่งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งห่วงโซ่การผลิตทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ

สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการศึกษาเขตการค้าเสรีไทย/อาเซียน – สหภาพยุโรปในมิติอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยร่วมกับ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาวิเคราะห์ผลประโยชน์และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมไทยจากการยกเลิกสิทธิพิเศษทางการค้า (GSP) และแนวทางการจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างไทย – สหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดท่าทีการเจรจาการค้าเสรีสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การพัฒนาความร่วมมือด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป พร้อมเสนอแนะแนวทาง กลไกและมาตรการสำหรับภาครัฐและภาคเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในบริบทการแข่งขันภายใต้ AEC โดยมีประเด็นหลักๆ ที่ต้องกำหนดท่าทีคือ

1. การลดภาษีนำเข้าสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

2. การเจรจาเรื่องกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า

3. การพัฒนายกระดับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยสู่เครือข่ายการผลิตในภูมิภาค

โดยหากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปสามารถลงนามข้อตกลงได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปยังสหภาพยุโรปเนื่องด้วยภายหลังจากปี 2558 เป็นต้นไปประเทศไทยจะไม่ได้รับสิทธิ GSP ส่งผลให้สินค้าเครื่องนุ่งห่มไทยที่ยังมีฐานการผลิตภายในประเทศต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาอย่างรุนแรงในตลาดสหภาพยุโรปเนื่องจากสินค้าไทยต้องเสียภาษีที่อัตราประมาณร้อยละ 12 ขณะที่สินค้าจากประเทศเวียดนาม(กรณีการเจรจาสามารถลงนามความตกลงได้สำเร็จ)อัตราภาษีจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0 จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป

ปัจจุบันอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยเป็นสาขาการผลิตที่สร้างรายได้หลักให้แก่ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมูลค่าเฉลี่ย 224,000 ล้านบาทต่อปี โดยเฉพาะสหภาพยุโรปนั้นถือได้ว่าเป็นตลาดสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่มไทยที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2557 มีการส่งในตลาดสหภาพยุโรปมีมูลค่าสูงถึง 32,288 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.9 ของการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ