ผลประชุมกระทรวงศึกษาธิการ 2/2558

ข่าวทั่วไป Thursday February 5, 2015 14:01 —สำนักโฆษก

ศึกษาธิการ - พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 2/2558 เมื่อวันพุธที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ห้องประชุมราชวัลลภ โดยมีพลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พันเอก ดำรงค์ สิมะขจรบุญ ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ตรวจราชการ และผู้บริหารหน่วยงานในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมีประเด็นสำคัญ สรุปดังนี้

สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.)

  • ความก้าวหน้าการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่ประชุมได้รับทราบ สป.ได้รายงานผลการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ของกระทรวงศึกษาธิการ ในไตรมาสแรก (1 ตุลาคม 2557-30 มกราคม 2558) ซึ่งได้มีการเบิกจ่ายตามระบบ GFMIS โดยมีผลการเบิกจ่าย (ทุกงบ) จำนวน 184,385 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับในปีงบประมาณนี้ ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมายการเบิกจ่ายที่ได้ตั้งไว้ในไตรมาสแรก ในส่วนของการเบิกจ่ายงบลงทุน ได้เบิกจ่ายไปแล้ว 8,362 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของงบลงทุนที่ได้รับในปีงบประมาณนี้

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือนแรกในกลุ่มมาตรการเพื่อการสร้างงาน : งบกลางที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีและงบไทยเข้มแข็งของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวน 12,959 ล้านบาท ซึ่งนางผานิตย์ มีสุนทร รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานกรรมการดำเนินการติดตามงบลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานความก้าวหน้าของหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สพฐ. 8,796 ล้านบาท สอศ. 2,375 ล้านบาท และ สกอ./มหาวิทยาลัยของรัฐ 71 แห่ง 1,788 ล้านบาท

ทั้งนี้ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ย้ำในที่ประชุมด้วยว่า ขอให้มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ดำเนินการด้วยความรอบคอบ พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณให้ปฏิบัติตามระเบียบอย่างโปร่งใส

  • ร่างหลักเกณฑ์ฯ เลื่อนเป็นวิทยฐานะตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement)

สำนักงาน ก.ค.ศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาเลื่อนเป็นวิทยฐานะชำนาญการพิเศษและวิทยฐานะเชี่ยวชาญ ตามข้อตกลงในการพัฒนางาน (Performance Agreement) โดยสาระสำคัญของการประเมินตามหลักเกณฑ์นี้เพื่อเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งประเมินจากผลในการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานในหน้าที่ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณภาพของผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ครูไม่ทิ้งห้องเรียน

รายละเอียดตามร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าว จะเสนอให้ที่ประชุม ก.ค.ศ.พิจารณา ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558

  • รายงานผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้

พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับผลการดำเนินงานการพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้วิสัยทัศน์ “มุ่งให้จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความปลอดภัยปราศจากเงื่อนไขการใช้ความรุนแรง มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติ ทุกภาคส่วนมีความเข้าใจ ไว้วางใจ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ” เพื่อพัฒนาการศึกษา สนับสนุนการแก้ไขปัญหา ตลอดจนพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงศึกษาธิการได้รับจัดสรรงบประมาณในการดำเนินงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 154 โครงการ เป็นเงิน 3,453 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เบิกจ่ายไปแล้วในไตรมาสแรก 688 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 20 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรร โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การจัดสรรทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ 486 ราย รวมเป็นเงิน 29 ล้านบาท การจัดกีฬาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาตรการดูแลความปลอดภัยครูและบุคลากรทางการศึกษา โครงการสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

  • รายงานผลการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รายงานผลการตรวจราชการตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในปี 2558 ในประเด็นนโยบายสำคัญเรื่อง “การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 และการดำรงความต่อเนื่องภายหลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ของเขตตรวจราชการที่ 17 (พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) และเขตตรวจที่ 18 (กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี) ซึ่งมีสรุปผลการตรวจประเด็นการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 4 ประเด็น ได้แก่

  • โครงสร้างพื้นฐาน : หน่วยงานในเขตพื้นที่ได้กำหนดศูนย์อาเซียนศึกษา และทุกโรงเรียนได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
  • ความพร้อมของนักเรียน : ผลสัมฤทธิ์รายวิชาหลักของนักเรียนในระดับ ป.6 และ ม.3 ยังต่ำกว่าเกณฑ์ระดับประเทศ มีการจัดการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศและภาษาอาเซียน จัดการแข่งขันตอบปัญหาอาเซียน พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการเรียนรู้
  • ความพร้อมของครู : มีการอบรมครูด้านภาษาและกระบวนการคิด การใช้ ASEAN Curriculum เป็นการพัฒนาหลักสูตรร่วมอาเซียนในกลุ่มโรงเรียน
  • การขยายเครือข่าย : การแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ และดำเนินความร่วมมือในกลุ่มประเทศอาเซียน

นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอแนะว่า ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู เพิ่มการใช้หลักสูตรรวมอาเซียนในระดับมัธยมศึกษา เพิ่มบทบาทของ กศน. และทบทวนเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ เรื่อง การอยู่ร่วมกันในประชาคมอาเซียน

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

  • โครงการประชุมวิชาการนานาชาติการศึกษาพิเศษ

ที่ประชุมรับทราบการเตรียมการจัดประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาพิเศษ : นวัตกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอน ครั้งที่ 1 (The International Conference on Special Education : Innovation to Enhance Learning Initiatives and Practices) ในระหว่างวันที่ 28-31 กรกฎาคม 2558 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่ง สพฐ.ได้จัดร่วมกับองค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีนี้ โดยคาดว่าจะมีผู้ประชุมชาวไทยและต่างประเทศเข้าร่วมมากกว่า 1,000 คน

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)

  • รายงานสรุปแนวทางทางแก้ปัญหาและการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู

ที่ประชุมรับทราบ สกอ.ได้รายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา คณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ และผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตครูในสถาบันอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อให้ได้แนวทางแก้ไขปัญหาและการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครู ให้การผลิตบุคลากรสาขาวิชาชีพครูมีความสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และแนวทางการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป

โดยมีข้อเสนอแนวคิดที่น่าสนใจใน 2 ส่วนคือ

1) การผลิตครู เช่น การผลิตครูในระบบปิดเน้นสาขาที่ขาดแคลนจำเป็น และผูกกับการมีงานทำ การจัดทำฐานข้อมูลความต้องการครูในแต่ละสาขาวิชา อย่างน้อย 5 ปี การผลิตครูบางส่วนในระบบเปิดเพื่อรองรับความต้องการครูในสถานศึกษาเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcomes) หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

2) การใช้และการพัฒนาครู เช่น การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระหว่างสถาบันฝ่ายผลิตและสถานศึกษา โดยให้มหาวิทยาลัยเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงกับสถานศึกษา เพื่อช่วยในการฝึกอบรมครู การสอนงาน และให้คำปรึกษา

สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)

  • ร่างยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู

ที่ประชุมได้รับทราบกรอบแนวคิดยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยกระดับคุณภาพครูให้เป็นครูมืออาชีพมีมาตรฐานระดับสากลเหมาะสมกับการเป็นครูในศตวรรษที่ 21” ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการในการดำเนินการ 2 ระดับ คือ 1) คณะกรรมการยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู เพื่อทำหน้าที่กำหนดกรอบนโยบายในการผลิต การพัฒนา และการบริหารงานบุคคลของครู โดยได้จัดประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง 2) คณะอนุกรรมการปฏิรูประบบการผลิตและพัฒนาครู เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายการผลิต การพัฒนา รวมทั้งระบบบริหารงานบุคคลของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่สอดคล้องกับกรอบการปฏิรูปการศึกษา โดยมีรองศาสตราจารย์พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน ซึ่งได้จัดประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง

ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุด เพื่อให้ยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู ทั้ง 4 ด้าน คือ 1) การปฏิรูประบบและรูปแบบการผลิตครู 2) การปฏิรูประบบและรูปแบบการพัฒนาครู 3) การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ 4) การสร้างกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครู สอดคล้องกับการปฏิรูประบบผลิตและพัฒนาครูที่มีคุณภาพมาตรฐานเหมาะสมกับการเป็นครูในศตวรรษที่ 21 มีการพัฒนาและสร้างสรรค์องค์ความรู้ นวัตกรรมด้านการผลิตและพัฒนาครูโดยใช้งานวิจัยเป็นพื้นฐาน ตลอดจนผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียนมีคุณภาพระดับสากลต่อไป

  • ความก้าวหน้าโครงการจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษา (Policy Review)

ที่ประชุมรับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ซึ่งได้เห็นชอบให้ขยายเวลาการดำเนินโครงการความร่วมมือจัดทำข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทย โดยองค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาและประสิทธิภาพการศึกษาให้ได้มาตรฐานสากล มีการเรียนรู้อย่างเท่าทันต่อสภาวการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556 แต่เกิดปัญหาทางการเมือง ทำให้ต้องขยายเวลาการดำเนินงานโครงการดังกล่าวจาก 28 สัปดาห์ เป็น 81 สัปดาห์ ซึ่งจะสิ้นสุดโครงการในวันที่ 31 มีนาคม 2558 จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีได้รับทราบข้อเสนอนโยบายด้านการศึกษา (Policy Review) ดังกล่าวต่อไป

  • ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติ (National Qualification Framework : NQF)

สกศ.ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้า NQF ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนสู่มาตรฐานสากล โดยใช้ระบบคุณวุฒิเป็นองค์ประกอบในการประเมินศักยภาพการเรียนรู้ของบุคคลที่เชื่อมโยงคุณวุฒิการศึกษากับการเทียบโอนประสบการณ์ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือในการขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติของประเทศไทย และการเทียบเคียงกรอบคุณวุฒิแห่งชาติกับกรอบคุณวุฒิอ้างอิงอาเซียน โดยคาดว่าจะเริ่มต้นเทียบเคียงตั้งแต่ปี 2559 และอย่างช้าภายในปี 2561 แต่ไม่มีการกำหนดระยะเวลาที่แล้วเสร็จ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสมัครใจและความพร้อมตามบริบทของแต่ละประเทศ

  • โครงการจัดทำรายงานทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภาคการศึกษา

ที่ประชุมรับทราบการจัดทำรายงานทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภาคการศึกษา เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ (ปี 2560-2569) ซึ่งควรจะต้องมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาการศึกษาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพและภูมิสังคมของแต่ละภาคการศึกษา และเพื่อให้ทุกภาคส่วนในจังหวัด/กลุ่มจังหวัด มีส่วนร่วมในการนำเสนอทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าว สกศ.จึงได้ขอความร่วมมือจากทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะสำนักงานศึกษาธิการภาค ให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลในการจัดทำรายงานและเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำรายงานทิศทางการพัฒนาการศึกษาระดับภาคการศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จสิ้นได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาฯ (ITD)

  • ผลการดำเนินงานระหว่างปีงบประมาณ 2545-2557 และไตรมาสแรก ของปีงบประมาณ 2558

ที่ประชุมรับทราบสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ได้รายงานสรุปผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2545-2557 ซึ่งได้ดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการ (วิจัย) ฝีกอบรม ประชุม และสัมมนา รวมทั้งสิ้น 602 กิจกรรม มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 42,545 คน

ในส่วนของไตรมาสแรก ปีงบประมาณ 2558 ITD ได้ดำเนินงานโครงการวิจัยเพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจและมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวม 7 เรื่อง และจัดกิจกรรมฝึกอบรม ประชุม สัมมนาร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในการถ่ายทอดผลงานวิชาการเพื่อพัฒนาบุคลากรในภูมิภาคและอนุภูมิภาคให้มีความรู้ด้านการค้าและพัฒนา รวม 24 ครั้ง โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมแล้วกว่า 2,000 คน

สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.)

  • รายงานผลการดำเนินงานของ สทศ.

ที่ประชุมรับทราบสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้รายงานผลการดำเนินงานที่สำคัญของ สทศ. ภายใต้วิสัยทัศน์ “TO BE A WORLD-CLASS EDUCATIONAL TESTING SERVICE CENTER” โดยเชื่อมโยงการดำเนินงานงบประมาณปี 2558 กับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้บริการประชาชนให้ได้รับการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และมีเป้าหมายที่จะเป็นหน่วยงานบริหารจัดการและดำเนินการเกี่ยวกับการวิจัย พัฒนา และให้บริการทางการประเมินผลและทดสอบทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติที่มีมาตรฐาน โปร่งใส และเป็นที่เชื่อถือของประชาชน

โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ

  • จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-Net, I-Net, B-Net, N-Net, V-Net การบริการทดสอบความถนัดทั่วไป GAT/PAT การทดสอบสมรรถนะครูทางด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การจัดทำคลังข้อสอบ (Item Bank)
  • การพัฒนาสมรรถนะครูด้านการวัดและประเมินผลการเรียนรู้สู่ผู้เขียนข้อสอบมืออาชีพ (Item Writer) การพัฒนาผู้ตรวจและผู้ประเมิน (Assessor)
  • การพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการทดสอบ เช่น ระบบการรายงานผลสอบแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Score)
  • การศึกษาวิจัย เช่น การพัฒนารูปแบบและวิธีการใช้คะแนนกลาง (Universal Score) การเทียบโอนความรู้และการเทียบระดับการศึกษา
  • การส่งเสริมการนำผลการทดสอบ O-Net ไปสู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ผู้เรียน
  • การพิจารณาจำนวนวิชาทดสอบ O-Net ให้เหลือเพียง 5 วิชา ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
  • การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เช่น การลงนามความร่วมมือกับสถาบัน/หน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ จัดทำ E-Journal พัฒนางานบริการทดสอบด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ (English Proficiency) ภาษาไทย (Thai Proficiency) เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT Proficiency) การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking)

ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวเพิ่มเติมในประเด็นนี้ด้วยว่า ที่ประชุมได้รับทราบการปรับลดจำนวนวิชาทดสอบ O-Net ของ สทศ. ซึ่งคณะกรรมการบริหาร สทศ.มีความเห็นตรงกันว่า ควรปรับลดการทดสอบ O-Net ในระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 เพียง 5กลุ่มสาระวิชาหลัก คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามนโยบายของ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างส่งเรื่องดังกล่าวให้ รมว.ศึกษาธิการพิจารณา จากนั้นคณะกรรมการบริหาร สทศ.จะได้ให้ความเห็นชอบต่อไป

นวรัตน์ รามสูต

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ