ในโอกาสนี้ นายจรินทร์ จักกะพาก รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า การดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในบทบาทของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้มีการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 จากสถิติของพื้นที่ที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) และปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ปี 2558 ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าปี 2557 ประมาณ 5,432 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้น จึงคาดว่าในห้วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 จะมีจังหวัดที่ประสบภัยแล้งเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ปัจจุบันมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง (เดือนตุลาคม 2557 – 27 มกราคม 2558) รวมทั้งสิ้น 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ ลพบุรี มหาสารคาม สุโขทัย และจังหวัดนครสวรรค์ รวม 30 อำเภอ 200 ตำบล 2,091 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 2.79 ของหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทย 74,963 หมู่บ้าน)
กระทรวงมหาดไทย โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยและจังหวัดทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งปี 2558 โดยดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้
1. การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย ได้มีการสำรวจพื้นที่ หมู่บ้าน ตำบล ที่คาดว่าจะประสบภัยแล้ง จัดทำบัญชีข้อมูลทั่วไป ข้อมูลสภาพพื้นที่เสี่ยงภัย ข้อมูลแหล่งน้ำ จัดเตรียมบุคลากร เตรียมเครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมต่อการใช้งาน เช่น รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ รถยนต์ดับเพลิง พร้อมจัดหา ซ่อมแซม หรือปรับปรุงแหล่งน้ำ ภาชนะกักเก็บน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และกำหนดจุดแจกจ่ายน้ำกลางประจำหมู่บ้าน ตรวจสอบและดำเนินการเป่าล้างบ่อบาดาล ก่อสร้างระบบประปาหมู่บ้าน รวมถึงการซ่อมแซมบำรุงรักษาระบบประปาหมู่บ้านให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาตั้งงบประมาณให้เพียงพอต่อการเผชิญเหตุสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นลำดับแรก รวมไปถึงการจัดทำแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยหรือไฟป่า การทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเพื่อสร้างความร่วมมือในการป้องกันและระงับอัคคีภัยหรือไฟป่าที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง สำหรับในพื้นที่ให้บริการน้ำประปาได้ดำเนินการสำรวจและประเมินปริมาณน้ำต้นทุนว่ามีเพียงพอหรือไม่ โดยจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงของการประปาส่วนภูมิภาคทุกสาขา แผนการจ่ายน้ำเป็นเวลาหากจำเป็นเพื่อให้มีแหล่งน้ำดิบเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาตลอดฤดูแล้ง ซึ่งส่วนราชการหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถแจ้งขอรับน้ำฟรีได้ที่การประปาส่วนภูมิภาคทุกสาขา
สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล การประปานครหลวงได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์น้ำและคุณภาพน้ำ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 เพื่อวางแผนบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ ป้องกันไม่ให้กระทบต่อการผลิตน้ำประปา เตรียมจุดจ่ายน้ำสำรองไว้บริการผู้ใช้น้ำทั้งในพื้นที่ให้บริการและบริเวณพื้นที่ชายขอบรวมไปถึงนอกพื้นที่ให้บริการ
2. การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งได้ดำเนินการ ดังนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำบริโภค (ประปาหมู่บ้าน) ปี 2557 จำนวน 150 โครงการ งบประมาณ จำนวน 480 ล้านบาท โอนจัดสรรแล้วทั้งหมด และปี 2558 จำนวน 1,700 โครงการ งบประมาณจำนวน 6,800 ล้านบาท โอนจัดสรรแล้ว จำนวน 4,819 ล้านบาท และจัดสรรเงินอุดหนุนสำหรับงานสูบน้ำด้วยไฟฟ้าของสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ปี 2557 จำนวน 334 โครงการ จำนวน 400 ล้านบาท และปี 2558 จำนวน 649 โครงการ งบประมาณจำนวน 950 ล้านบาท โอนจัดสรรหมดแล้ว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 โครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งสิ้น 569 โครงการ จำนวนเงินงบประมาณ 1,400 กว่าล้านบาท (โอนจัดสรรแล้ว 280 โครงการ จำนวนเงิน 500 กว่าล้านบาท) สนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถบรรทุกเครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล จำนวน 18 คัน รถบรรทุกน้ำ จำนวน 218 คัน และรถผลิตน้ำดื่ม จำนวน 23 คัน เข้าไปดำเนินการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากทั้ง 31 จังหวัด รวมไปถึงการเข้าร่วมให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในโครงการราษฎร์ รัฐ ร่วมใจช่วยภัยแล้งกับกองทัพบก โดยการประปาส่วนภูมิภาคได้เปิดจุดจ่ายน้ำฟรีทุกสาขา เพื่อให้ท้องถิ่นที่ประสบภัยแล้งนำรถมารับน้ำฟรีได้ตลอดเวลา กำหนดจ่ายน้ำฟรี 380 ล้านลิตร คิดเป็นมูลค่า 6.8 ล้านบาท
สำหรับจังหวัดที่ประสบภัยแล้งได้มีการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคไปแล้วจำนวน 2.4 ล้านลิตรตลอดจนการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนในการดูแลประชาชนทั้งในด้านสาธารณสุข การช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรในระหว่างงดทำการเกษตรให้มีงานทำในพื้นที่ เช่น ประสานงานกับหน่วยงานที่รับผิดชอบและภาคเอกชน จ้างงานประชาชนผลิตสินค้าให้แก่โรงงานในพื้นที่ หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตั้งงบประมาณเป็นค่าก่อสร้างไว้ได้ขอความร่วมมือให้ผู้รับจ้างใช้แรงงานจากประชาชนในพื้นที่เพื่อดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ได้เน้นย้ำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณ หากงบประมาณในการดำเนินโครงการอื่นยังไม่มีความจำเป็น หรือ มีความจำเป็นน้อยกว่า ให้นำงบประมาณมาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อช่วยเหลือประชาชนในการอุปโภคบริโภค โดยบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนทั้งจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งทั่วประเทศ ตลอดจนการประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
3. การสร้างความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องแก่ประชาชน กระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนโดยอาศัยเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารจากรัฐบาลให้ประชาชนได้เข้าใจและตระหนักถึงสถานการณ์ภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้น และขอความร่วมมือในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรตามที่หน่วยงานของรัฐได้มีการแจ้งเตือน รวมทั้งการรณรงค์การใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ เยียวยาเกษตรกร และประชาชนในพื้นที่ประสบภัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เน้นย้ำถึงการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และบุคลากรของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่ที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยกระทรวงมหาดไทยพร้อมร่วมกับทุกกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทยยังได้มีการเตรียมพร้อมในการให้ความช่วยเหลือภายหลังจากเกิดภัยแล้ง ซึ่งจะมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชนโดยด่วน และจะพิจารณาตามความจำเป็นเร่งด่วน ความเป็นธรรม ความเสมอภาค และมิให้เกิดความซ้ำซ้อนทั้งในเรื่องการให้ความช่วยเหลือและงบประมาณ
ที่มา: http://www.thaigov.go.th