ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การจัดโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ตามนโยบายที่เคยให้ไว้แก่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) ในการกระจายแหล่งเรียนรู้ทางดาราศาสตร์ให้แก่เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารตามโรงเรียนต่างๆ ที่ขาดงบประมาณ อุปกรณ์เครื่องมือ รวมทั้งการสร้างบุคคลากรตั้งแต่วัยเยาวน์ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัยให้ได้รับโอกาสทางการศึกษา เสมือนกล้องโทรทัศน์เป็นหน้าต่างสู่โลกดาราศาสตร์ และเพื่อให้สอดคล้องตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สดร. จึงได้ริเริ่มโครงการกระจายโอกาสเรียนรู้ดาราศาสตร์ฯ ดังกล่าวขึ้น โดยการมอบกล้องโทรทัศน์ชนิดสะท้อนแสง แบบดอปโซเนียน (Dobsonian Telescope) และอุปกรณ์การเรียนรู้ดาราศาสตร์ให้แก่โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นศูนย์กลางในการกระจายสื่อการเรียนรู้ทางด้านดาราศาสตร์ทั่วประเทศ จัดกิจกรรมกระจายความรู้เพื่อให้เยาวชนได้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยชุมชนบริเวณใกล้เคียง หรือนักเรียนโรงเรียนอื่นๆ สามารถเรียนรู้และใช้ประโยชน์ได้
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 “60 พรรษา เจ้าฟ้านักดาราศาสตร์” สดร.จึงจัดกิจกรรมการมอบกล้องโทรทัศน์ชนิดสะท้อนแสงแบบดอปโซเนียน (Dobsonian Telescope) ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 60 ตัว พร้อมอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์สำหรับใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนดาราศาสตร์ในห้องเรียน อาทิเช่น หนังสือดาราศาสตร์ แผนที่ดาว โมเดลระบบสุริยะ ร่มลายแผนที่ดาว เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น และใช้ในการจัดกิจกรรมทางดาราศาสตร์ต่างๆ ให้แก่โรงเรียนประมาณ 25 จังหวัดทั่วประเทศ และจะขยายผลให้ครบ 77 จังหวัดภายในระยะเวลา 3 ปี 2559-2561 โดยพิจารณาการคัดเลือกโรงเรียน สถานศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านที่มีความพร้อม มีประสบการณ์ มีความสนใจในการดำเนินโครงการกิจกรรมดาราศาสตร์ในโรงเรียน และมีบุคลากรครูที่ผ่านการอบรมด้านดาราศาสตร์ มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางหรือแกนนำในการพัฒนาเครือข่ายทางด้านดาราศาสตร์ได้ ซึ่ง สดร.จะรับหน้าที่ในการให้บริการดูแลการใช้งานของกล้อง การฝึกทักษะการใช้อุปกรณ์ต่างๆ และการจัดอบรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ทางดาราศาสตร์
ดร.ศรัญย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า คุณสมบัติของกล้องโทรทัศน์ชนิดสะท้อนแสง แบบดอปโซเนียน (Dobsonian Telescope) นั้น เป็นกล้องที่ผลิตเองในประเทศไทยเหมาะสำหรับใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่โรงเรียนได้เป็นอย่างดี สามารถจัดกิจกรรมดูดาวนอกสถานที่ได้ ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 นิ้ว กำลังขยายสูงสุด 75 เท่า สามารถมองเห็นเพื่อศึกษาหลุมดวงจันทร์ ศึกษาโครงงานดาราศาสตร์ สำรวจวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ดาวเสาร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร ดาวศุกร์ รวมทั้งกาแล็คซี่ เนบิวลา กระจุกดาวเปิด กระจุกดาวทรงกลมสังเกตุการณ์ดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจน โดยสามารถใช้ร่วมกับแผนที่ดาว อุปกรณ์เสริมสำหรับถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าด้วยกล้องดิจิตอล และอุปกรณ์ฉากรับภาพดวงอาทิตย์
ทั้งนี้ โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ www.narit.or.th ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปจนถึง 28 กุมภาพันธ์ 2558 สำหรับการมอบกล้องโทรทัศน์และสื่อเรียนรู้ดาราศาสตร์ ครั้งที่ 1 กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4-6 เมษายน 2558 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร จังหวัดปทุมธานี
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th