การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ครั้งที่ 1/2558

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 2015 15:16 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ครั้งที่ 1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ระหว่างเวลา 9.30-12.00 น. ณ ห้องประชุม สอศ.ชั้น 2 โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา รวมทั้งคณะผู้บริหาร และคณะกรรมการ กรอ.อศ. ร่วมประชุม โดยมีประเด็นสำคัญสรุปดังนี้

กรอบแนวทางการขับเคลื่อนด้านการอาชีวศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ กรอ.อศ.

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวให้ที่ประชุมรับทราบถึงกรอบแนวทางการขับเคลื่อนด้านการอาชีวศึกษาที่เกี่ยวข้องกับ กรอ.อศ. ใน 10 ประเด็น ดังนี้

1) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีส่วนร่วมพัฒนาโรงเรียนดี อาชีวะดี ครูดี สื่อดี อันจะส่งผลให้การผลิตกำลังคนเชื่อมโยงกับความต้องการของตลาดแรงงานมากขึ้น

2) ขยายผลการจัดหลักสูตรทวิภาคี และสหกิจศึกษา โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการ สนับสนุนโรงเรียนในโรงงาน เพื่อให้ครอบคลุมมากขึ้น

3) จัดตั้ง กรอ.อศ. โดยส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างรัฐเอกชน และทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมจัดและสนับสนุนการอาชีวศึกษาอย่างจริงจัง

4) จัดให้มีหลักสูตรทักษะอาชีพ ควบคู่สามัญในระดับมัธยมศึกษา อันจะช่วยเพิ่มกำลังแรงงานในระดับกลาง และเพิ่มช่องทางแก่เด็กและเยาวชนที่มีเป้าหมายเข้าสู่ระบบแรงงานระดับกลางด้วย

5) พัฒนาระบบค่าตอบแทนตามสมรรถนะ ความรู้ ความสามารถ และเร่งใช้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อให้ค่าตอบแทนสะท้อนสมรรถนะของแรงงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจ้างงาน และส่งเสริมค่านิยมในการเรียนสายอาชีพ

6) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะระดับอุดมศึกษา ตลอดจนเชื่อมโยงการวิจัยและนวัตกรรมกับการพัฒนาและถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

7) ผลิตกำลังคนตอบสนองความต้องการเร่งด่วนและการพัฒนาประเทศ โดยร่วมมือผลิตกำลังคน ตอบสนองภาคการผลิตและบริการในสาขาจำเป็น และยกระดับแรงงานไทยร่วมกับสถานประกอบการ โดยพัฒนาหลักสูตรและจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานประกอบการ

8) ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา โดยเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจระบบการเรียนอาชีวศึกษา โอกาสในการทำงาน และความก้าวหน้าของอาชีพในรูปแบบต่างๆ การเปิดสอนหลักสูตรหรือฝึกอาชีพระยะสั้นในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา และเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

9) ยกระดับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีศักยภาพให้มากขึ้น โดยจัดทำความร่วมมือ เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาและวิชาชีพ กับประเทศเพื่อนบ้าน

10) โครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน การพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศไทยให้มีความรู้ความชำนาญ โดยจัดสรรทุนสำหรับผู้เรียนอาชีวศึกษา คือ ทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ

รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการใน กรอ.อศ.จำนวน 19 กลุ่มอาชีพ

ที่ประชุมรับทราบคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 16 มกราคม 2558 ซึ่งรัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพ เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. จำนวน 19 กลุ่มอาชีพ ดังนี้

1) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีนายกสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

2) กลุ่มอาชีพสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และแฟชั่น โดยมีประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นประธานอนุกรรมการ

3) กลุ่มอาชีพแม่พิมพ์ โดยมีนายกสมาคมอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

4) กลุ่มอาชีพเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร โดยมีนายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

5) กลุ่มอาชีพก่อสร้าง สถาปัตย์ และโยธา โดยมีนายวิสิฐษ์ โมไนยพงศ์ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เป็นประธานอนุกรรมการ

6) กลุ่มอาชีพไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายพฤฒิ เมาลานนท์ รองเลขาธิการกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

7) กลุ่มอาชีพพาณิชย์นาวี โดยมีประธานสมาคมเจ้าของเรือไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

8) กลุ่มอาชีพโลจิสติกส์ โดยมีประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

9) กลุ่มอาชีพบริการยานยนต์ โดยมีนายวราวุธ ทองเงิน ผู้เชี่ยวชาญสถาบันเทคโนโลยียานยนต์มหาชัย เป็นประธานอนุกรรมการ

10) กลุ่มอาชีพโรงแรมและท่องเที่ยว โดยมีประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

11) กลุ่มอาชีพอัญมณีและเครื่องประดับ โดยมีประธานที่ปรึกษากลุ่มอุตสาหกรรมอัญมนีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

12) กลุ่มอาชีพพลังงาน โดยมีนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการการอาชีวศึกษา เป็นประธานอนุกรรมการ

13) กลุ่มอาชีพค้าปลีก โดยมีประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

14) กลุ่มอาชีพเครื่องยนต์เล็ก โดยมีนายอารักษ์ พรประภา กรรมการบริหารสมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

15) กลุ่มอาชีพภาคธุรกิจและบริการอาหาร โดยมีนางอรรถพันธ์ มาศรังสรรค์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

16) กลุ่มอาชีพปิโตรเคมี โดยมีนายอดิเทพ พิศาลบุตร์ ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

17) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน โดยมีนายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานอนุกรรมการ

18) กลุ่มอาชีพอุตสาหกรรมพลาสติก โดยมีผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เป็นประธานอนุกรรมการ

19) กลุ่มอาชีพนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบ โดยมีนายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร เป็นประธานอนุกรรมการ

ให้คณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 19 ชุด มีหน้าที่กำหนดความต้องการกำลังคนในแต่ละกลุ่มอาชีพในทุกระดับ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนการผลิตกำลังคน ระดับอาชีวศึกษา,ส่งเสริมสนับสนุนการกำหนดคุณวุฒิวิชาชีพ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนอาชีวศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถนะวิชาชีพ เป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ และร่วมผลักดันให้ผู้สำเร็จอาชีวศึกษาได้รับค่าตอบแทนตามสมรรถนะ, ส่งเสริมสนับสนุนการขยายยกระดับอาชีวศึกษาทวิภาคี, ส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของครูอาชีวศึกษาและครูฝึกในสถานประกอบการ, ร่วมแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนของประเทศเป็นการเร่งด่วน ทั้งในส่วนของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว, ส่งเสริมและสนับสนุนการปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษา, ส่งเสริมสนับสนุนการยกระดับคุณภาพอาชีวศึกษาไทยไปสู่มาตรฐานอาเซียนและมาตรฐานสากล, แต่งตั้งคณะทำงานได้ตามความเหมาะสม

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาย้ำในที่ประชุมด้วยว่า จะมีการจัดตั้งคณะทำงานชุดเล็ก เพื่อร่วมขับเคลื่อนและสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ. และคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 19 กลุ่มอาชีพอย่างใกล้ชิด โดยในการประชุม กรอ.อศ. ครั้งต่อไปใน 3 เดือนข้างหน้า ก็จะให้คณะอนุกรรมการฯ และคณะทำงานชุดต่างๆ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้ที่ประชุมรับทราบต่อไปด้วย

เห็นชอบแผนการดำเนินงานของ กรอ.อศ. ในปีงบประมาณ 2558

ที่ประชุมเห็นชอบแผนการดำเนินงานของ กรอ.อศ. ปีงบประมาณ 2558 ซึ่งได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนากำลังคน รายกลุ่มอาชีพ 12 ด้าน ดังนี้

วิเคราะห์ความต้องการกำลังคน (Demand Side) ในกลุ่มอาชีพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

วิเคราะห์ข้อมูลการผลิตกำลังคน (Supply Side) ในกลุ่มอาชีพ

กำหนดสมรรถนะอาชีพ หรือกำหนดมาตรฐานอาชีพ ตามความต้องการของสถานประกอบการ

ปรับหลักสูตรฐานสมรรถนะ ร่วมกับสถานประกอบการ

การนำร่องทดลองใช้หลักสูตร

พัฒนาครูประจำการ/ครูฝึกในสถานประกอบการ

พัฒนาวัสดุครุภัณฑ์ สื่อการเรียนการสอน

การปรับปรุงพัฒนาสภาพแวดล้อมการเรียนรู้

พัฒนาระบบวัดและประเมินผลการเรียนการสอน

ประเมินผลการใช้หลักสูตรเพื่อปรับปรุงพัฒนา

การจัดทำมาตรฐานวิชาชีพและการทดสอบมาตรฐานวิชาชีพ

การพัฒนาเส้นทางอาชีพ

โดยแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กรอ.อศ. กลุ่มอาชีพ จะเน้นไปที่การจัดประชุมสัมมนาคณะอนุกรรมการฯ 19 กลุ่มอาชีพ เดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งมีการจัดทำแผนพัฒนาครู-หลักสูตร-วัสดุครุภัณฑ์-สื่อการเรียนการสอน-สภาพแวดล้อมการเรียนรู้-ระบบวัดและประเมินผล ตลอดจนการจัดการความรู้ และการสร้างและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทุกภาคส่วนด้วย

แผนความต้องการกำลังคนของแต่ละอุตสาหกรรมและระบบฐานข้อมูล เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา

ที่ประชุมเห็นชอบแผนความต้องการกำลังคนของแต่ละอุตสาหกรรมและระบบฐานข้อมูล เพื่อให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาสามารถใช้ฐานข้อมูลดังกล่าว เพื่อการวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

จัดระบบการคาดการณ์และการวางแผนความต้องการกำลังคนระยะยาว (5-10 ปี) ร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านกำลังคนอย่างเป็นรูปธรรม

สนับสนุนและส่งเสริมกระบวนการร่วมกันในการพัฒนาและวางแผนความต้องการกำลังคน ระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

จัดทำแผนการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับสากล

จัดทำ School Mapping/Skill Mapping เพื่อกำหนดนโยบายและผลิตกำลังคน ให้สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรม เกษตร และบริการ

จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาระดับจังหวัด เพื่อสนับสนุนการทำงานของ กรอ.อศ.

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น การคาดการณ์ความต้องการของตลาดแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น ควรพิจารณาจากระบบเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ กระทรวงศึกษาธิการซึ่งมีผู้เรียนสายอาชีพทั้งระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาควรมีการทำงานเชิงรุกโดยจัดทีมเข้าไปที่นิคมอุตสาหกรรมหรือหารือกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้มากขึ้น ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็จะเข้ามามีบทบาทต่อการผลิตและพัฒนาความต้องการกำลังคนมากขึ้น

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

5/2/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ