รมว.ศึกษาธิการหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ข่าวทั่วไป Friday February 6, 2015 16:42 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยพลเรือเอก เรืองทิพย์ เทียนทอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และคณะผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้การต้อนรับและหารือกับนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันรหัสสากล รวมทั้งรองประธานอาวุโส ตลอดจนคณะกรรมการบริหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เกี่ยวกับความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษา เมื่อวันศุกร์ที่6 กุมภาพันธ์ 2558 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะผู้บริหาร ได้มาหารือถึงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการอาชีวศึกษา หลังจากที่เมื่อวานนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2558) ได้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.) ไปแล้ว

การหารือในครั้งนี้ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการกำลังคน (Demand Side) ในกลุ่มอาชีพทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ การผลิตกำลังคน (Supply Side) ในกลุ่มอาชีพต่างๆ การพัฒนาครูประจำการ/ครูฝึกในสถานประกอบการ ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เช่น เยอรมัน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมากในการจัดการอาชีวศึกษาระดับโลก

ประเด็นสำคัญที่ได้หารือ คือ การจัดการศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งหากสภาอุตสาหกรรมได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มากขึ้นไปยังทุกกลุ่มอาชีพ ทุกภาค ทั่วประเทศแล้ว ก็เชื่อมั่นว่าผู้จบการศึกษาอาชีวะออกไป จะอยู่ในระบบแรงงานและสถานประกอบการอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและสถานประกอบการเองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับผู้เรียน ซึ่งนอกจากจะได้ความรู้วิชาชีพติดตัวแล้ว การฝึกงานในสถานประกอบการจะทำให้เด็กได้รับเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน รายได้ตั้งแต่กำลังศึกษา และจะทำให้ผู้เรียนเกิดความกระตือรือร้นเข้ามาอยู่ในระบบทวิภาคีมากขึ้น

ส่วนการปรับปรุงหลักสูตรในระบบทวิภาคีนั้น หากสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นว่าจำเป็นต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็ขอให้หารือกับ สอศ. เพื่อพิจารณาปรับหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับแต่ละกลุ่มอาชีพให้มากขึ้น เช่น บางกลุ่มสาขาอาชีพต้องการสัดส่วนเวลาเรียนในสถานศึกษาต่อสถานประกอบการเป็น 50 : 50 ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ขอให้นำมาหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

ทั้งนี้ ต้องการให้เน้นประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระบบการเรียนอาชีวศึกษา โอกาสในการทำงาน และความก้าวหน้าของอาชีพในรูปแบบต่างๆ การเปิดสอนหลักสูตรหรือฝึกอาชีพระยะสั้นในสถานศึกษา เพื่อส่งเสริมให้มีการเข้าเรียนต่อในสายอาชีวศึกษา และเพื่อการประกอบอาชีพในอนาคต

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังขยายการศึกษาอาชีวะลงไปสู่การศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะที่ผ่านมาเด็กที่เรียนสายสามัญ เมื่อจบชั้น ม.3 หรือ ม.6 ออกไป จะเป็นแรงงานที่ไม่มีฝีมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่หากจบออกไปแล้วมีอาชีพติดตัว ก็จะทำให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือและมีรายได้ที่สูงขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายที่จะส่งเสริมการเรียนการสอนอาชีวศึกษาในโรงเรียนสายสามัญ เพื่อให้นักเรียนมีความรู้พื้นฐานอาชีวะควบคู่กันไปกับสายสามัญ โดยจะให้โรงเรียนในแต่ละพื้นที่ได้ร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาในพื้นที่นั้นๆ หรือพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งส่วนกลางพร้อมจะสนับสนุนร่วมกันจัดทำหลักสูตรที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ต่อไปด้วย

แม้จะทำให้เด็กต้องใช้เวลาเรียน มากกว่าเรียนสายสามัญอย่างเดียว แต่ก็จะทำให้ผู้ที่จบออกมาได้รับประกาศนียบัตร 2 ใบ คือ ได้รับทั้งวุฒิสายสามัญคือ ม.3/ม.6 และวุฒิสายอาชีพ คือ ปวช./ปวส. โดยกระทรวงศึกษาธิการกำลังดำเนินการเพื่อขอรับการจัดสรรเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวไปยังสำนักงบประมาณ เนื่องจากเงินอุดหนุนรายหัวในการศึกษาสายอาชีพจะสูงกว่าสายสามัญ แต่เมื่อมองในระยะยาว การเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวจะคุ้มค่ามากกว่า เพราะรัฐได้รับประโยชน์จากการที่เด็กมีวิชาชีพติดตัว สามารถจบออกไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือทำงานในภาคธุรกิจ SME ได้ทันที โดยจะลดอัตราการว่างงานลงด้วย

นอกจากกระทรวงศึกษาธิการจะส่งเสริมสนับสนุนผู้เรียนสายสามัญแล้ว ขณะเดียวกันจะส่งเสริมให้ผู้เรียน กศน. ที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 1.2 ล้านคน ได้เรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้นเช่นกันด้วย เนื่องจากสำนักงาน กศน. ได้สำรวจสอบถามความคิดเห็นจากกลุ่มผู้เรียนแล้ว ส่วนใหญ่ต้องการเรียนสายอาชีพควบคู่ไปด้วย

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

6/2/2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ