นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าในช่วงนี้อาจมีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดนก เนื่องจากหลายพื้นที่อากาศหนาวเย็น และเริ่มมีนก อพยพหนีสภาพอากาศหนาวจากต่างประเทศมาอยู่ไทย จึงอาจนำเชื้อมาแพร่ได้ และในปี พ.ศ. 2557 ยังพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ที่โรคจะแพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยตามบริเวณแนวชายแดน โดยผ่านทางการเคลื่อนย้ายสัตว์และการเดินทางของประชาชนตามแนวชายแดน นอกจากนี้ยังอาจติดต่อผ่านทางนกธรรมชาติได้อีกด้วย จึงได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ ร่วมกับ อสม.เฝ้าระวังในคนอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ร่วมกับกระทรวงเกษตรฯ กรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังการป่วยในสัตว์ปีกเลี้ยงในบ้าน ในฟาร์ม นกป่าทุกหมู่บ้าน ที่ผ่านมายังไม่พบการติดเชื้อแต่อย่างใด สัตว์ปีกที่วางจำหน่ายขณะนี้มีความปลอดภัย
สำหรับในช่วงก่อนถึงเทศกาลตรุษจีนนี้ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน เร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจผู้ประกอบการค้าสัตว์ปีก แผงจำหน่ายสัตว์ปีกในตลาด ขอให้ยึดความปลอดภัยด้านสุขภาพ ไม่นำสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายมาชำแหละขาย พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนทุกคนที่พบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ให้รีบแจ้งแก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชน เพื่อนำซากสัตว์ไปตรวจว่าติดเชื้อไข้หวัดนกและหากพบว่าติดเชื้อจริง เจ้าหน้าที่ก็จะสามารถควบคุมป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที
สถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลกตลอดปี 2557 องค์การอนามัยโลกรายงานเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 พบผู้ป่วย 45 ราย เสียชีวิต 17 ราย ใน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน อียิปต์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ยอดสะสมตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปี 2557 พบผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ใน 16 ประเทศ รวม 694 ราย เสียชีวิต 402 ราย
ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า เชื้อไข้หวัดนกที่พบในสัตว์ปีก ในปี 2557 มี 7 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 (H5N1) สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 2 (H5N2) สายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 8 (H5N8) สายพันธุ์ เอช 10 เอ็น 8 (H10N8) สายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 5 (H7N5) สายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 7 (H7N7) และสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ที่ผ่านมาในไทยพบเพียง 1 สายพันธุ์ คือ เอช 5 เอ็น 1 อย่างไรก็ตามสัตว์ปีกที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อไปสู่สัตว์หรือคนได้ โดยสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไข้หวัดนก จะมีอาการดังต่อไปนี้คือ ซูบผอม ไม่กินอาหาร ขนยุ่ง ยืนหรือเดินไม่ปกติ น้ำมูกไหล ถ่ายเหลวเป็นน้ำ หายใจลำบาก หนังตา หงอน เหนียงหรือขาบวม บางตัวอาจตายกะทันหัน อาจพบการตายผิดปกติเป็นจำนวนมากได้
ส่วนคนสามารถติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกได้จากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยตรง และหรือสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสัตว์ที่เป็นโรค เช่น อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายของสัตว์ที่ป่วย วิธีการป้องกันโรคไข้หวัดนก คือ ไม่สัมผัสสัตว์ปีกที่ตายโดยตรง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือหรือถุงพลาสติกป้องกันเสมอ รวมทั้งขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติ กินร้อน ใช้ช้อนกลางและล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ รับประทานอาหารประเภทสัตว์ปีกและไข่ที่ปรุงสุกแล้วเท่านั้นรวมถึงแยกเขียงหั่นอาหารดิบและอาหารสุกไม่ใช้เขียงร่วมกัน
8 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th