สำหรับผลการดำเนินงาน ณ 31 มกราคม 2558 การปฏิบัติงานของเอสเอ็มอีแบงก์ เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ดังนี้
ด้าน NPLs มีตัวเลขลดลงประมาณ 288 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มกราคม 2558 เอสเอ็มอีแบงก์ มี NPLs 31,672 ล้านบาท และลดลงจาก 35,167 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2557 เป็นจำนวน 3,495 ล้านบาท สาเหตุหลักเกิดจากทั้งการเร่งรัดประนอมหนี้ และ การที่ดูแลลูกหนี้ได้ทั่วถึงทำให้ควบคุมการตกชั้นหนี้ได้ ธนาคารคาดหวังว่า NPLs ของธนาคารจะลดลงอย่างต่อเนื่องตามแผนฟื้นฟูที่วางไว้ และในเดือนมกราคม 2558 คณะกรรมการธนาคาร ได้อนุมัติขายทรัพย์สินที่เปิดประมูลขายเป็นกองแรก ให้แก่ บริษัทศรีสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้ยื่นประมูลราคาสูงที่สุดแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการส่งมอบเอกสารเท่านั้น
ผลการดำเนินงานด้านสินเชื่อ ในเดือนมกราคม ธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อรายย่อยตามพันธกิจเพิ่มประมาณ 1,000 ราย และสามารถเบิกจ่ายไปแล้วกว่า 1,931 ล้านบาท กระบวนการพิจารณาและเบิกจ่ายสินเชื่อของธนาคารเริ่มทำได้รวดเร็วกว่าเดิมมาก ลูกหนี้ที่ปล่อยกู้ทั้งหมดในเดือนมกราคม 2558 เป็นวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท และมุ่งเน้น SMEs รายย่อย และ โอทอป ในต่างจังหวัดเป็นหลัก ซึ่งจะช่วยให้ SMEs เหล่านี้ มีเงินหมุนเวียนเพียงพอที่จะไม่ต้องลดการจ้างงาน และไม่ต้องลดการซื้อวัตถุดิบ ซึ่งเป็นผลิตผลในท้องถิ่น นอกจากนั้น ธนาคารได้เริ่มเดินหน้าให้สินเชื่อโครงการ “แม่ค้าคนดี” โดยทำ MOU กับตลาดทั่วประเทศ เช่น ตลาดประตูน้ำขอนแก่น ตลาดเซฟวันโคราช ตลาดเจริญศรี อุบลราชธานี ป่าตองโอทอปช้อปปิ้งพาราไดซ์ ภูเก็ต โดยปล่อยกู้แม่ค้าเพื่อการเซ้งแผงค้าขาย หรือ เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งสามารถกู้ได้รายละไม่เกิน 5 ล้านบาท ทั้งหมดนี้ส่งผลให้เดือนมกราคม ธพว. มีผลกำไรสุทธิ 98 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าผลประกอบการจะเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านสินเชื่อใหม่ เอสเอ็มอีแบงก์มุ่งหน้าขยายสินเชื่อตามพันธกิจตามมติซุปเปอร์บอร์ดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2557 ให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยวงเงิน ไม่เกิน 15 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีมติซุปเปอร์บอร์ดออกมาเอสเอ็มอีแบงก์มีลูกค้าทั้งรายเดิม และ รายใหม่มายื่นคำขอสินเชื่อวงเงินรวมเกินกว่า 15 ล้านบาท ไว้อยู่ก่อนแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารหรือบางรายได้รับการอนุมัติเรียบร้อยแล้ว ธนาคารจึงได้ทำหนังสือขอผ่อนปรนไปยังซุปเปอร์บอร์ด โดยผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ขอให้ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อเกิน 15 ล้านบาท ให้ลูกค้า 2 กลุ่ม คือ ลูกค้ารายใหม่ ที่ได้รับเรื่องไว้แล้วอยู่ระหว่างพิจารณาจากธนาคาร และบางรายได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ธนาคารไม่สามารถเบิกจ่ายสินเชื่อให้ได้ ซึ่งลูกค้าเหล่านี้เป็นสินเชื่อที่มีคุณภาพดี วงเงินที่ขออยู่ในระดับ 30 – 40 ล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในเขตภูมิภาค ลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่ธนาคารได้ขอผ่อนผันไป คือ ลูกค้ารายเดิม ที่มีคุณภาพดี มีการชำระเงินกู้จนมียอดคงค้างต่ำกว่าวงเงิน และ ต้องการเบิกเงินเพิ่มให้เต็มวงเงินตามที่ธนาคารได้ผูกพันไว้แล้วตั้งแต่แรก รอผลการพิจารณาผ่อนปรนของซุปเปอร์บอร์ดอยู่
ขณะนี้มีลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งดังกล่าวโดยตรงได้ทำหนังสือร้องทุกข์มายังธนาคารเพื่อขอให้เร่งรัดพิจารณาให้ด้วย เพราะเป็นการยากที่จะไปขอใช้สินเชื่อจากธนาคารเอกชน หรือ ธนาคารอื่นได้ในเวลาอันสั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายสื่อสารองค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม โทร.02-265-4564-5
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th