ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ได้มาตรวจเยี่ยมสนามสอบ O-NET ที่ผ่านมาได้ตรวจเยี่ยมสนามสอบที่ดำเนินการจัดสอบโดย สทศ.มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ การทดสอบความถนัดทั่วไปและความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (GAT/PAT) และการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา (V-NET) ทำให้มีความมั่นใจในระบบการจัดการทดสอบของประเทศไทยที่ดำเนินการโดย สทศ. ซึ่งจะดำเนินการและจัดการทดสอบไม่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากศูนย์สอบและสนามสอบทุกแห่ง ในนามของเด็กไทยต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยเหลือ ดูแล ทำให้การจัดสอบ O-NET ครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันส่งสัญญาณให้ชัดเจนแก่สังคมด้วยว่า สังคมไทยจะไม่มีที่ยืนให้คนทุจริต การทุจริตตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนจะนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันในอนาคตได้ ดังนั้นต้องเริ่มจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครอบครัว ครูอาจารย์ และสถานศึกษาให้ช่วยกันอย่างจริงจัง รวมถึงการรณรงค์เรื่องความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งเป็นหนึ่งในค่านิยมหลัก 12 ประการ ขอให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วย
รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. กล่าวว่า O-NET เป็นการทดสอบความรู้และความคิดของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 มีนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จาก 6 กระทรวง/เทียบเท่ารวม 14 หน่วยงานเข้าสอบทั้งสิ้นจำนวน 446,741 คน จาก 19 ศูนย์สอบ 410 สนามสอบทั่วประเทศ มีนักเรียนพิเศษที่มีสิทธิ์สอบ แบ่งได้ดังนี้ 1) นักเรียนตาบอดแต่อ่านอักษรเบรลล์ได้ จำนวน 34 คน 2) นักเรียนตาบอดและอ่านอักษรเบรลล์ไม่ได้ จำนวน 19 คน และ 3) นักเรียนที่มีสายตาเลือนราง จำนวน 20 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 73 คน
วัตถุประสงค์ของการสอบ O-NET เพื่อนำผลการทดสอบไปใช้เป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบการศึกษา หรือการเข้าศึกษาต่อในระบบแอดมิชชั่น รวมทั้งเพื่อให้ สพฐ.ใช้เป็นเกณฑ์ในการสอบผ่าน 5 วิชาหลัก โดยแต่ละวิชาต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โด
ในปีนี้ สทศ.ได้จัดทำระเบียบเพื่อป้องปรามการทุจริต โดยแบ่งเป็นกรณีทุจริตของบุคลากรประจำสนามสอบ/ศูนย์สอบและนักเรียน หากบุคลากรประจำสนามสอบ/ศูนย์สอบฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว จะมีการดำเนินการ ดังนี้ 1) ขึ้นรายชื่อผู้ทุจริตในบัญชีดำ (Blacklist) 2) ส่งรายชื่อผู้ทุจริตให้ผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดพิจารณาทางวินัย 3) ดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย หากการทุจริตนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการจัดการทดสอบของ สทศ. สำหรับกรณีนักเรียนทุจริตหรือฝ่าฝืนระเบียบดังกล่าว จะมีการดำเนินการ ดังนี้ 1) ไม่ประกาศผลการสอบบางวิชาหรือทุกวิชา 2) ส่งพฤติการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ไปที่สถานศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้พิจารณาประกอบการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ 3) ดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย หากการทุจริตนั้นทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการจัดการทดสอบของ สทศ. อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกับผู้ทุจริตต้องพิจารณาตามพฤติกรรมเป็นกรณี โดยมีคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาด้วย ซึ่ง สทศ.ได้ชี้แจงและกำชับศูนย์สอบแต่ละแห่งเพื่อดำเนินการและชี้แจงมาตรการป้องปรามการทุจริตถึงสนามสอบและห้องสอบทุกแห่งแล้ว
รศ.ดร.เชาวลิต ลิ้มมณีวิจิตร ประธานศูนย์สอบ มจธ. กล่าวว่า ศูนย์สอบ มจธ.มีสนามสอบเครือข่าย 9 แห่ง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประธานสนามสอบแต่ละแห่งเป็นอย่างดี การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้ว่าจะมีนักเรียนพิเศษเข้าสอบด้วย แต่ สทศ.ก็ได้จัดเตรียมกระบวนการและวิธีการช่วยเหลือ ดูแลนักเรียนดังกล่าว จึงขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความไว้วางใจและร่วมมือเป็นอย่างดี
ดร.อัญชลี ประกายเกียรติ ประธานสนามสอบโรงเรียนศึกษานารี กล่าวว่า โรงเรียนศึกษานารีดำเนินการจัดสอบ O-NET ประจำปีการศึกษา 2557 ระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2558 โดยมีโรงเรียนและนักเรียนที่ใช้สนามสอบโรงเรียนศึกษานารี จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนศึกษานารี มีจำนวนผู้เข้าสอบ 569 คน โรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ มีจำนวนผู้เข้าสอบ 360 คน โรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีจำนวนผู้เข้าสอบ 108 คน โรงเรียนซางตาครู้สคอนแวนต์ มีจำนวนผู้เข้าสอบ 129 คน และโรงเรียนแสงอรุณ มีจำนวนผู้เข้าสอบ 101 คน รวมจำนวนผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 1,267 คน
การสอบ O-NET ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2558 ช่วงเช้าเป็นการสอบวิชาวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และวิชาคณิตศาสตร์ ในช่วงบ่ายจะเป็นการสอบวิชาภาษาอังกฤษ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2558 ในช่วงเช้าเป็นการสอบวิชาภาษาไทย และวิชาวิทยาศาสตร์ ช่วงบ่ายจะเป็นการสอบวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา ศิลปะ การงานอาชีพและเทคโนโลยี
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th