วันนี้ (12ก.พ.58) เวลา 09.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 1/2558 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการประชุมสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรี ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบโดยได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการบีโอไอและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ช่วยกันพิจารณากลั่นกรองโครงการการลงทุนต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด ถึงแม้จะล่าช้าไปบ้างแต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปได้ด้วยดี อย่างไรก็ตามจากการที่บีโอไอมีกฏกติกาใหม่เพิ่มเติมในการส่งเสริมการลงทุนนั้น สิ่งใดที่สามารถจะส่งเสริมหรือเร่งรัดการลงทุนได้ก็ขอให้ร่วมกันพิจารณาเพื่อหาแนวทางดำเนินการให้กับแต่ละประเทศที่ลงทุนกับประเทศไทย ทั้งนี้นโยบายและยุทธศาสตร์เห็นควรมีพื้นฐานกำหนดไว้ก็คือกฏเกณฑ์ของบีโอไอ ก่อนมีการกำหนดมาตรการพิเศษเพิ่มเติม เช่น การลงทุนในปี 2558 ที่สามารถดำเนินการได้ทันหรือมีการลงทุนที่ตรงกับความต้องการของประเทศไทย โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี เศรษฐกิจสีเขียว การปรับและเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนการเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และสร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ทันที เป็นต้น ขณะเดียวกันการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ขอให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และเกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการศึกษาแนวคิดสร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพมหานครกับแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน หรือ กรุงเทพฯ-พัทยา พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ โดยอาจจะเป็นการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเชิญชวนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุนกับไทย สำหรับเส้นทางรถไฟความเร็วสูง อาจจะก่อสร้างในเส้นทางคู่ขนานกับรถไฟรางขนาด 1 เมตร หรือขนาดราง 1.435 เมตร แต่หากมีพื้นที่ไม่เพียงพอก็อาจจำเป็นที่ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม ส่วนงบก่อสร้างอาจจะใช้จากเงินงบประมาณหรือเงินกู้ ซึ่งต้องมีการพิจารณาในรายละเอียดต่อไป
พร้อมทั้งที่ประชุมฯ ได้พิจารณา ใน 23 โครงการ มูลค่าการลงทุน 7 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ต่างประเทศได้ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งญี่ปุ่น จีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกรณีของสหรัฐอเมริกานั้น รัฐบาลยังจำเป็นต้องทำการค้าและการลงทุนกับทุกประเทศ แม้ว่าที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกอาจยังมีความไม่เข้าใจในการดำเนินกิจการภายในของไทย แต่มีความจำเป็นต้องมีการค้าขายกันต่อเนื่อง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้มีการรวบรวมข้อมูลแผนยุทธศาสตร์การลงทุนที่เป็นการรวบรวมจากทุกกระทรวงให้เป็นข้อมูลเดียวกัน เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับชี้แจงต่อต่างประเทศในช่วงที่เดินทางไปเยือนประเทศเหล่านั้น ซึ่งได้มีการจัดตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 1 ชุดทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล แผนยุทธศาสตร์ของทุกกระทรวงในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนให้เป็นข้อมูลเดียวกันอีกด้วย
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางหิรัญญา สุจินัย รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เปิดเผยผลการประชุมฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กล่าวถึงนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการภาวะการลงทุน ภายใต้บอร์ดบีโอไอ เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลการลงทุนทั้งหมดของทุกกระทรวงให้เป็นข้อมูลชุดเดียวกันอย่างสมบูรณ์และมีความเป็นเอกภาพ ซึ่งจะทำให้การส่งเสริมการลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาห้อการค้าแห่งประเทศไทย โดยมีบีโอไอ เป็นฝ่ายเลขานุการ อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า ประเทศไทยควรจะมีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หารือร่วมกับผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องและนักลงทุนต่างประเทศเพื่อพิจารณาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้หากมีการดำเนินการในเรื่องนี้คาดว่าจะสามารถทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เกี่ยวข้องกับเหล็ก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการดำเนินการที่สมบูรณ์มากขึ้น ขณะที่การดำเนินการเรื่องรถไฟความเร็วสูงนายกรัฐมนตรีมีแนวคิดอาจจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ โดยยื่นข้อเสนอหรือโครงการในเส้นทางที่เอกชนสนใจและสามารถดำเนินการได้ให้รัฐบาลพิจารณา เช่น กรุงเทพฯ- หัวหิน กรุงเทพฯ-พัทยา กรุงเทพฯ – พิษณุโลก หรือกรุงเทพฯ – นครราชสีมา เป็นต้น
ขณะที่ด้าน รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการ จำนวน 23 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 77,228 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท ลา ครูเซ แมนูแฟคเจอริ่ง (ไทยแลนด์) จำกัด ได้รับส่งเสริมในกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ประเภท STONEWARE โดยใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในประเทศแถบทวีปยุโรป กำลังผลิตปีละประมาณ 12,000,000 ชิ้น เงินลงทุน 2,386 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดลำพูน
2.บริษัท สปาร์คเทค (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตชิ้นส่วนโลหะ เช่น METAL SHELL กำลังผลิตปีละประมาณ 129,276,000 ชิ้น และชิ้นส่วนพาหนะ เช่น SPARK PLUG กำลังผลิตปีละประมาณ 118,800,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,700 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดชลบุรี
3.Mr.FUSASHI OBORA ได้รับส่งเสริมกิจการผลิตชุดเกียร์ส่งกำลังอัตโนมัติ (AUTOMATIC TRANSMISSION) กำลังผลิตปีละ 235,000 ชุด เงินลงทุนทั้งสิ้น 4,248.4 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี
4.บริษัท พรีแพค ประเทศไทย จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตสิ่งพิมพ์ เช่น บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อน และถุงพิมพ์ลวดลาย เป็นต้น กำลังผลิตปีละประมาณ 7,000 ตัน เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,100 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดสมุทรสาคร
กิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม-ขยะ-ชีวมวล เงินลงทุนรวม 30,916.9 ล้านบาท ได้แก่
โครงการที่ 5 ถึง 12 เป็นของบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม กำลังการผลิตรวม 448.5 เมกะวัตต์ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 26,265.9 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 โครงการ จังหวัดสงขลา 1 โครงการ และตั้งในจังหวัดชัยภูมิ 5 โครงการ
13.บริษัท กลุ่ม 15 จำกัด ได้รับส่งเสริมขยายกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงจากขยะ (REFUSE DERIVED FUEL) กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,251 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม
14. บริษัท เคทิส ชีวพลังงาน จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร) เงินลงทุนทั้งสิ้น 960 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 40 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 195 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดสุโขทัย
15. บริษัท ลพบุรี ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากเชื้อเพลิงชีวมวล (กากอ้อย) เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,440 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตไอน้ำ 510 ตันต่อชั่วโมง ตั้งโครงการที่จังหวัดลพบุรี
กิจการขนส่งทางอากาศ มูลค่ารวม 34,876.8 ล้านบาท ประกอบด้วย
16. บริษัท ไทย แอร์เอเชีย เอ็กซ์ จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ อาทิ ขนส่งผู้โดยสาร ส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ เงินลงทุนทั้งสิ้น 9,007 ล้านบาท โดยการเช่าเครื่องบินจากประเทศฝรั่งเศส
โครงการที่ 17 ถึง 20 เป็นของบริษัท ไทยไลอ้อน เมนทารี จำกัด ได้รับการส่งเสริมขยายกิจการขนส่งทางอากาศ รวม 4 โครงการ เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,034 ล้านบาท เป็นการเช่าเครื่องบินใหม่แบบ Boeing B-737-900 ER รวมจำนวน 14 ลำ
21. บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอย์ท สต๊อค จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า เครื่องบินโดยสาร จำนวน 5 ลำ แบบ Airbus A 320 ความจุผู้โดยสารลำละ 180 ที่นั่ง แบ่งเป็นเครื่องบินเก่า จำนวน 2 ลำ และเครื่องบินใหม่ จำนวน 3 ลำ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,325.8 ล้านบาท
22.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่าเครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 2 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,338.7 ล้านบาท
23.บริษัท สายการบินนกสกู๊ต จำกัด ได้รับการส่งเสริมกิจการขนส่งทางอากาศ โดยเช่า เครื่องบิน Boeing 777-200 จำนวน 1 ลำ ความจุผู้โดยสารลำละ 415 ที่นั่ง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,171.3 ล้านบาท
อีกทั้ง รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่บีโอไอได้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ส่งผลให้มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (STI) สิ้นสุดลงด้วย ที่ประชุมบอร์ดบีโอไอพิจารณาเห็นว่าเพื่อสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จึงเห็นชอบให้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริม หรือยื่นขอรับส่งเสริมก่อนมาตรการใหม่มีผลบังคับใช้ สามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามนโยบายใหม่เพิ่มเติมได้ หากมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา การออกแบบผลิตภัณฑ์ การฝึกอบรมขั้นสูงแก่บุคลกากร เป็นต้น
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th