โครงการ ODOS : เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ" : เน้นสายอาชีพ
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือถึงการดำเนินงานตามโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (One District One Scholarship : ODOS) จะไม่มีสำหรับผู้เรียนสายสามัญแล้ว แต่จะให้แก่ผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมการศึกษาต่อในสายอาชีพมากขึ้น โดยจะจัดสรรทุนการศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "ทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ" เป็นโครงการระระยาว 14 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2558-2572 โดยให้ทุนแก่เด็ก 5 รุ่นๆ ละ 2,300 ทุน
สำหรับผู้รับทุนในระดับปริญญาตรีจะเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถสมัครรับทุนได้โดยไม่มีเงื่อนไข แต่ระดับปริญญาโทจะเปิดรับสมัครผู้เข้ารับทุนแบบมีเงื่อนไข คือ เมื่อผู้รับทุนจบการศึกษาแล้วจะต้องกลับมาใช้ทุนเป็นครูอาจารย์ เนื่องจากประเทศไทยยังต้องการครูอาจารย์สายอาชีพที่มีความสามารถอีกมาก โดยแบ่งทุนเพื่อศึกษาต่อในประเทศ 700 ทุน และทุนศึกษาต่อต่างประเทศ 1,600 ทุน ออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะสั้น (เรียนไม่เกิน 2 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 1,250 ทุน (ทุนในประเทศ 100 ทุนและทุนต่างประเทศ 1,150 ทุน)
ระยะกลาง (เรียน 4 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 700 ทุน (ทุนในประเทศ 400 ทุนและทุนต่างประเทศ 300 ทุน)
ระยะยาว (เรียน 7 ปี) จำนวนทั้งสิ้น 350 ทุน (ทุนในประเทศ 200 ทุนและทุนต่างประเทศ 150 ทุน)
ส่วนสาขาวิชาในการไปศึกษาต่อนั้น ที่ประชุมได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดทำรายละเอียด เพื่อพิจารณาต่อไป
การเสนอกฎหมายที่เกี่ยวข้องของกระทรวงศึกษาธิการต่อคณะรัฐมนตรี 7 ฉบับ
โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้วจำนวน 5 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 2) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 3) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 4) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และ 5) ร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยขอนแก่น
นอกจากนี้ มีร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้ และร่าง พ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาฯ ซึ่งอยู่ในคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน กระทรวงการคลัง โดยคาดว่าร่าง พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปได้อย่างช้าภายในเดือนมีนาคม 2558 และเมื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว จะมีการพิจารณาด้วยความรวดเร็ว คาดว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวทั้ง 2 ฉบับ จะเสร็จสิ้นได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2558
สำหรับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้นั้น โฆษกกระทรวงศึกษาธิการกล่าวว่า จะดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับนักเรียน ครู และสถานศึกษา การนำร่องวิธีการหรือโปรแกรมใหม่ เช่น โครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ เพื่อกระจายอำนาจลงไปสู่การจัดการเชิงพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการใน 11 จังหวัดแล้ว อีกทั้งเพื่อเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เพื่อรองรับสถานะของ สสค.ให้เป็นหน่วยงานซึ่งมีกองทุนรองรับ และจะสามารถทำประโยชน์ได้มากขึ้น
โดยเฉพาะการทำวิจัยเชิงระบบ ที่มีความจำเป็นมาก ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รวมทั้ง สนช. และกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความเห็นว่า ต้องการให้การปฏิรูปในครั้งนี้เป็นการปฏิรูปที่เน้นกระบวนการเรียนรู้และสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดในกระบวนการได้ หากกระบวนการปฏิรูปดำเนินไปสู่ข้อกฎหมายบางเรื่องที่ต้องการการปลดล็อกหรือดำเนินการผิดพลาดก็สามารถกลับมาเดินใหม่ได้ ให้เป็นกระบวนการปฏิรูปที่อ่อนตัว มีความยืดหยุ่น จึงจำเป็นต้องมีการวิจัยเชิงระบบมาก เช่น การคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัวเพื่อชดเชยให้กับกลุ่มนักเรียนที่ด้อยโอกาส ฐานะยากจน ซึ่งต้องคำนวณตามสภาพพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจของครอบครัว เป็นต้น โดย สสค.จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยทำให้พิมพ์เขียวการปฏิรูปของ สปช.เป็นจริง
ในส่วนของสถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ก็จะมีบทบาทสำคัญมากในการดำเนินการด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก แต่จะไม่เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เพราะมีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดูแลอยู่แล้ว แต่สถาบันเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานการลงทุนภาครัฐ ไม่ให้การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ซ้ำซ้อนกัน และจะดำเนินการใน 2 เรื่องหลัก คือ 1) การวิจัยและพัฒนาสื่อดิจิทัลเพื่อเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนทุกช่วงวัย ไม่ใช่เฉพาะเด็กและเยาวชน 2) การฝึกอบรมครูให้สามารถใช้ ICT เพื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ใหม่ กระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเป็น รู้จักค้นคว้า มีวิจารณญาณในการกลั่นกรองข้อมูล
กุณฑิกา พัชรชานนท์
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
11/2/2558
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก สสค.
ที่มา: http://www.thaigov.go.th