ไทย – ลาว – กัมพูชา – เมียนมา ร่วมสร้างกลไกคุ้มครองแรงงาน ชี้ แรงงานอพยพช่วยสร้างเศรษฐกิจอาเซียน ‘โต’

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 15:11 —สำนักโฆษก

‘ปลัดแรงงาน’ กล่าวเปิดเวทีสร้างความเข้าใจการคุ้มครองแรงงานอพยพแก่เจ้าหน้าที่แรงงานสถานกงสุลลาว กัมพูชา เมียนมาประจำประเทศไทย เผย แรงงานอพยพในไทย 3 ล้านคนสร้างความเติบโตในระบบเศรษฐกิจ ก.แรงงาน ควบคุมการไหลเข้า คำนึงถึงความปลอดภัย ยุติธรรม ภายใต้ MOU ย้ำแรงงานทุกกลุ่มได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน ด้านผู้เชี่ยวชาญ ILO ชี้ เคลื่อนย้ายแรงงานเสรี 7+1 สาขาตามข้อตกลง MRAs มีราว 1.3 -1.4 % ของการจ้างงานในอาเซียน โดยแรงงานอพยพเป็นผู้ส่งเงินกลับประเทศต้นทาง และผู้ทำให้เศรษฐกิจประเทศปลายทางโต

นายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุม Capacity Building Workshop on Strengthening the Role of Labour Atttaches in Thailand ณ โรงแรมแลนด์มาร์ค ว่า การประชุมเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถบทบาทของเจ้าหน้าที่แรงงานประจำประเทศไทยในครั้งนี้เพื่อให้ความคุ้มครองแรงงานเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจแก่เจ้าหน้าที่จากสถานกงสุลลาว กัมพูชา และเมียนมาประจำประเทศไทย ในการที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความคิดเพื่อนำไปสู่กระบวนการพัฒนาและแจ้งข้อมูลอันจะเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานอพยพซึ่งทำงานในไทยประมาณ 3 ล้านคน แรงงานเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการเจริญเติบโตของประเทศ แต่ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานก็ต้องดูแลให้เกิดความพอเหมาะพอดีตามแนวนโยบายของพลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อให้การเข้ามาของแรงงานอพยพเป็นไปอย่างเหมาะสมสอดคล้อง ทั้งนี้ทั้งนั้นเพื่อความปลอดภัยและให้ความเป็นธรรมกับแรงงานอพยพ โดยรูปแบบการขึ้นทะเบียนและการดำเนินการให้มี MOU ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการเสริมสร้างเพื่อจัดการแรงงานอพยพในไทย ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินการอยู่และจะสิ้นสุดการตรวจสัญชาติแรงงานกลุ่มดังกล่าวภายในเดือนมีนาคมนี้ และแรงงานกลุ่มนี้จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานของไทย

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า เรามีเจตนารมณ์ที่จะปรับเปลี่ยนและพัฒนาระบบต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นประเด็น คือการคุ้มครองแรงงานอพยพไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานอพยพจะได้รับการคุ้มครองเท่าเทียมกัน การคุ้มครองดังกล่าวจะได้รับการดูแลทั้งสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย ระบบสวัสดิการที่ดี รวมถึงกระทรวงแรงงานได้จัดกลไกในการร้องเรียนได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ด้วยวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างให้การทำงานเข้มแข็งขึ้น เรามีล่ามเพื่อประสานกับเจ้าหน้าที่สถานทูตในไทยอีกด้วย

ด้าน Mr.Nilim Baruah,Regional Migration Spacialist ,International Labour Organization กล่าวว่า การประชุมว่าด้วยการเสริมสร้างบทบาททูตแรงงานในประเทศไทย เกิดขึ้นจากความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับทูตแรงงานลาว กัมพูชา เมียนมา และทูตแรงงานในประเทศไทย เพื่อหารือเรื่องสิทธิแรงงาน การร้องเรียน เพื่อให้ทูตแรงงานได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เน้นผลที่จะเกิดขึ้นต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานเมื่อเปิดประชาคมอาเซียน ซึ่งจะมีการย้ายถิ่น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการในการติดตามและกลไกร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อเปิดประชาคมอาเซียนจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีใน 7 สาขาอาชีพตามข้อตกลงร่วมกัน (MRAs) และเพิ่มเติมสาขาการท่องเที่ยว ซึ่งจะมีประมาณ 1.3 -1.4 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานในอาเซียน อย่างไรก็ตามความพยายามที่จะกำหนดกลไกของแรงงานระดับกลาง และระดับต่ำเพื่อให้เกิดความเติบโตในทางเศรษฐกิจร่วมกันในภูมิภาค แม้ว่าอาเซียนเป็นภูมิภาคหนึ่งของโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการย้ายถิ่นของแรงงานอพยพเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการข้ามถิ่นของแรงงานจะส่งเงินมาสนับสนุนครอบครัว เพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศต้นทางและปลายทาง ทั้งนี้ทูตแรงงานจะมีบทบาทสำคัญและถือเป็นแนวหน้าในการคุ้มครองแรงงานกลุ่มนี้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีกลไกในการปรึกษาหารือ เพื่อให้ทุกฝ่ายมีบทบาทเกี่ยวข้องในการคุ้มครองแรงงานอพยพ ซึ่ง ILO ได้ตระหนักถึงความร่วมมือจากทูตแรงงานเพื่อคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานทุกคน เพื่อให้เขาได้รับการตอบแทนที่เหมาะสมในการเสริมสร้างความมั่นคั่งให้กับประเทศต้นทาง และประเทศปลายทางต่อไป

กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์/

กระทรวงแรงงาน “บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ