คกก.โรคอุบัติใหม่แห่งชาติ ให้คงมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาและโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ทั้งคนและสัตว์ เข้มแข็ง ต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Thursday February 12, 2015 15:14 —สำนักโฆษก

คณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติ เผยสถานการณ์โรคอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกแนวโน้มดีขึ้น พบผู้ป่วยลดลง ส่วนไทยไม่พบผู้ป่วย ให้คงมาตรการป้องกันอย่างเข้มแข็ง ต่อเนื่อง พร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดในสัตว์และติดต่อมาถึงคน ที่มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้นทุก 2-3 ปี เน้นบูรณาทำงานร่วมระหว่างก.สาธารณสุข เกษตรฯ และทรัพยากรฯ เป็นระบบสุขภาพหนึ่งเดียว พร้อมเร่งกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดภายในปี 2563

วันนี้ (12 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายยงยุทธ์ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่แห่งชาติครั้งที่ 1 ประจำปี 2558 ว่า ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทุกประเทศรวมทั้งไทยมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในทวีปแอฟริกาตะวันตก ซึ่งไทยได้มีมาตรการในการเฝ้าระวังและป้องกันโรคอย่างเข้มแข็ง ผลการเฝ้าระวังผู้ที่เดินทางจากพื้นที่ระบาดไม่พบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของใน 3 ประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ กินี ไลบีเรีย เซียร์ราลีโอน จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วย 22,894ราย เสียชีวิต 9,177ราย แนวโน้มการพบผู้ป่วยรายใหม่ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง แต่ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ คณะกรรมการฯ ยังคงให้ดำเนินมาตรการต่างๆในการป้องกันโรคนี้ต่อไปอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง รวมถึงเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ โรคไวรัสเมอร์สโควี รวมทั้งโรคติดต่ออุบัติใหม่อื่นๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดบ่อยขึ้นทุก 2-3 ปี

นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายกำจัดโรคติดต่อเดิมคือ โรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปภายในปี 2563 และการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน เช่นไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสนิปาห์ที่มีค้างคาวเป็นพาหะ ข้อมูลในปี 2556 กรมอุทยานแห่งชาติฯได้เฝ้าระวังและสุ่มตรวจในค้างคาว 16 ชนิด รวม 1,399 ตัวอย่างใน 15 จังหวัด พบเชื้อไวรัสนิปาห์ 21 ตัวอย่างหรือร้อยละ 1.5 ของตัวอย่างทั้งหมด แม้จะยังไม่พบโรคนี้ในคนและปศุสัตว์อื่นๆ แต่ก็ไม่อาจนิ่งนอนใจได้ ต้องเพิ่มความระมัดระวัง เช่นไม่กินผลไม้ที่ถูกค้างคาวกัดทิ้งไว้ รวมทั้งแนะนำนักท่องเที่ยวที่ชมถ้ำค้างคาว ต้องระมัดระวังไม่สัมผัสกับค้างคาวหรือมูลค้างคาว เพราะอาจติดเชื้อไวรัสนี้ได้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการเฝ้าระวังร่วมกัน ทั้งในสัตว์ป่า ปศุสัตว์ และในคน

ด้านนายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังติดตามจะเป็นโรคจากสัตว์สู่คน ดังนั้นคณะกรรมการชุดนี้ จึงมีองค์ประกอบที่มาจากกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงทรัพยากรฯ และคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการติดเชื้อจากสัตว์สู่คนให้มากที่สุด แต่หากเกิดขึ้นก็จะร่วมกันสร้างระบบในการรองรับผู้ป่วย ทั้งด้านการเฝ้าระวัง การรักษา การวินิจฉัย และการป้องกันควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาดในวงกว้าง ดังนั้นการสร้างสมรรถนะพื้นฐานทั้งด้านกำลังคน อุปกรณ์ที่จำเป็นและโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ

ทางด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมวมาสู่คน การเฝ้าระวังป้องกันโรคดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมมือกันเป็นระบบสุขภาพหนึ่งเดียว(One Health) โดยกรมควบคุมโรคดูแลคน กรมปศุสัตว์ดูในสัตว์ และกรมอุทยานฯ ดูในสัตว์ป่า ที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันในสุนัขให้ครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ80 ซึ่งดำเนินการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกรมปศุสัตว์ หากมีพื้นที่พบสุนัขติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องประกาศเป็นเขตโรคระบาดสัตว์เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และหากถูกสุนัขกัดหรือข่วนให้รีบไปฉีดวัคซีนให้ครบ เพื่อป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า เพราะหากปล่อยไว้จนมีอาการป่วยจะเสียชีวิตทุกราย โดยพบผู้ป่วยและเสียชีวิตปีละ 6-7 ราย

“ขอแนะนำประชาชนที่เลี้ยงสัตว์ ควรเลี้ยงอย่างรับผิดชอบ พาสัตว์ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี อย่าปล่อยสัตว์ไปรบกวนคนอื่น หากถูกสัตว์ข่วนหรือกัดและไม่แน่ใจว่าสัตว์นั้นได้รับการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือสัตว์เลี้ยงมีอาการผิดปกติไปจากเดิมเช่นดุร้าย ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน” นายแพทย์โสภณกล่าว

12 กุมภาพันธ์ 2558

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ