วันนี้ (13 กุมภาพันธ์ 2558)ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ผศ.(พิเศษ)ดร.นพ.ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและคณะ ร่วมแถลงข่าวเรื่อง “การออกกฎหมายคุ้มครองตำรับยาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ” เพื่อป้องกันการฉกฉวยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติ ไปใช้ประโยชน์ทางการค้าและการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์อย่างไม่เหมาะสม
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่พ.ศ.2542 เป็นต้นมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมายลูกรวมทั้งสิ้น 20 ฉบับ ตามมา ได้แก่ กฎกระทรวง 6 ฉบับ ประกาศกระทรวง 12 ฉบับ และระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริม ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย 2 ฉบับ และล่าสุดนี้ได้ออกกฎหมายลูกเพื่อใช้คุ้มครองตำรับตำรายาแผนไทยของชาติ เนื่องจากที่ผ่านมาได้เกิดกรณีตางชาตินำภูมิปัญญาด้านการแพทย์ของไทยไปใช้ประโยชน์ทั้งในทางการค้าและการสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ ในขณะที่ประเทศไทยเอง ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะที่จะคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทย และระบบกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่มีอยู่ก็ยังไม่ครอบคลุมถึงการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการแพทย์แผนไทยที่เกิดจากการสืบทอดกันมา โดยเฉพาะตำรับยาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาไทยในสาขาที่มีศักยภาพและอยู่ในความสนใจของต่างชาติ มีมูลค่ามหาศาลทางเศรษฐกิจ สามารถพัฒนาและต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้
กฎหมายดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 สนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์ แผนไทย พ.ศ.2542 มาตรา17 มาตรา18 มาตรา 19 เรื่องการ คุ้มครองตำรับยาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวง เป็นกฎหมายลูกเพื่อคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยของชาติและภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยทั่วไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 3 ฉบับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามแล้ววันนี้ 13 กุมภาพันธ์ 2558 มีผลใช้บังคับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้แก่ 1.เรื่องการประกาศกำหนดตำรับยาแผนไทยทั่วไปหรือตำราการแพทย์แผนไทยทั่วไป พ.ศ.2558 โดยเป็นตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทยที่มีการใช้ประโยชน์กันอย่างแพร่หลายหรือที่พ้นอายุการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 33 ตำรับยาแผนไทยดังกล่าว ได้แก่ ยาสามัญประจำบ้านในส่วนที่เป็นยาแผนโบราณตามกฎหมายว่าด้วยยากำหนดเพื่อใช้งานสาธารณสุขมูลฐาน หรือทางราชการ หรือหน่วยงานของรัฐรวบรวมพัฒนาหรือปรับปรุงขึ้น มีเอกสารหลักฐานการใช้ หรือการศึกษาวิจัยด้านความปลอดภัยและประโยชน์ในการรักษาโรค
2.การประกาศกำหนดตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐรวบรวม พัฒนาหรือปรับปรุงขึ้นมีเอกสารหรือหลักฐานอ้างอิงแหล่งที่มาของตำรับยาแผนไทย หรือมีคุณค่าต่อการศึกษาวิจัยมีผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอาจนำมาพัฒนาเป็นตัวยาใหม่ได้ แก้ไขปัญหาการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ และ3.การขอรับอนุญาต ข้อจำกัดสิทธิ และค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์จากตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ พ.ศ.2558
ทางด้านนายแพทย์ธวัชชัย กมลธรรม อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในการคุ้มครองดังกล่าวกฎหมายได้กำหนดให้นายทะเบียนคือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำกับดูแล หากผู้ใดจะนำตำรับยาหรือตำราการแพทย์แผนไทยที่อยู่ในกฎหมายฉบับนี้ ไปใช้เพื่อการขึ้นทะเบียนตำรับยาและขออนุญาตผลิตยาตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือนำไปศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุง
หรือพัฒนาเป็นตำรับยาใหม่เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือนำไปศึกษาวิจัยตำราการแพทย์แผนไทยของชาติเพื่อปรับปรุงหรือพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยขึ้นใหม่เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการค้า จะต้องยื่นคำขออนุญาตก่อนและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตั้งแต่ 20,000 บาท(สองหมื่นบาท) และหากนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าต้องจ่ายค่าตอบแทนจากผลประโยชน์ทางการค้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของมูลค่าการจำหน่ายยาที่ผลิตได้ตามราคาที่ออกจากโรงงาน มูลค่าการใช้ประโยชน์จากตำรับยาใหม่ที่ได้จากการศึกษาวิจัยตำรับยาแผนไทยของชาติหรือมูลค่าการใช้ประโยชน์ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยใหม่ที่ได้จากการศึกษาวิจัยตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ โดยค่าตอบแทนจะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ทั้งนี้หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามโทษสูงสุด จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542
สำหรับบุคคลที่จะขอจดทะเบียนสิทธิในภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล เพื่อขอรับการคุ้มครองและส่งเสริมตามประกาศ จะต้องมีสัญชาติไทยและมีคุณสมบัติคือ 1.เป็นผู้คิดค้นตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทย 2.เป็นผู้ปรับปรุงหรือพัฒนาตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทย 3.เป็นผู้สืบทอดตำรับยาแผนไทยหรือตำราการแพทย์แผนไทย
กฎหมายฉบับนี้มีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ได้รับการคุ้มครอง 3 ประเภท ประกอบด้วย ประเภทที่ 1 ได้แก่ ตำรับยาแผนไทยของชาติหรือตำราการแพทย์แผนไทยของชาติ คือ 1.คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์(ฉบับใบลาน) 2.ศิลาจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร 3.ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ 5 (สมุดไทย) 4.ตำราพระโอสถครั้งรัชกาล ที่ 2 ลำดับที่ 5.ตำรายาพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ 6.ตำรายาพิเศษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 7.ตำราสรรพคุณยาของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท 8.ศิลาจารึกตำรายาวัดพระเชตุ พนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์) 9.สมุดภาพโคลงฤาษีดัดตน และ 10.ตำราแผนปลิงของไทย ซึ่งเตรียมประกาศเป็นของชาติ รวมแล้วกว่า 4,387 รายการ ส่วนประเภทที่ 2 ได้แก่ ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเวชกรรม เล่ม 1 ถึง เล่ม 3 ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาเภสัชกรรม ตำราแพทย์แผนโบราณทั่วไป สาขาผดุงครรภ์ และรายการอื่นๆอีกไม่น้อยกว่า 33 รายการ ที่เตรียมประกาศตามกฎหมายนี้ และประเภทที่ 3. ได้แก่ตำรับยาแผนไทยส่วนบุคคลหรือตำราการแพทย์แผนไทยส่วนบุคคล ซึ่งมีกฎหมายใช้บังคับอยู่ก่อนแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้สิทธิ์
13 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th