วันนี้ (16 ก.พ.58) เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยร้อยเอก นายแพทย์ ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้แทนส่วนราชการ ประกอบด้วย นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน นายถาวร ชลัษเฐียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายไมตรี อินทุสุต รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมแถลงข่าวผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล สรุปได้ดังนี้
ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสนใจในการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษา ให้มีสมรรถนะตามที่สถานประกอบการต้องการ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานการผลิตกำลังคน (Supply Side) กับหน่วยความต้องการกำลังคน (Demand Side) ไม่ได้ประสานงานกันมากนัก จึงมีคำพูดเสมอ ๆ ว่า ผลิตไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน กระทรวงศึกษาธิการจึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.อศ.) ซึ่งมีคณะอนุกรรมการตามกลุ่มอาชีพที่จะทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งหมด 19 กลุ่มอาชีพ และจะแต่งตั้งเพิ่มอีก 4 ชุด รวมเป็น 23 ชุด โดยจะมีภาคเอกชนที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือภาคเกษตรกรรม มาเป็นกำลังหลัก
ในการดำเนินการ ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจะคัดเลือกสถานศึกษาเด่นในแต่ละกลุ่มอาชีพเข้ามาร่วมเป็นคณะอนุกรรมการ กรอ.อศ. เพื่อการพัฒนากำลังคนด้านอาชีวศึกษาให้ยั่งยืน เข้มแข็งโดยเน้นเป็นการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี จึงได้มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องมาตรฐานการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีไว้เป็นแนวทางทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จะได้มีความเข้าใจตรงกันในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาที่จบการศึกษามีคุณภาพทั้งด้านทักษะวิชาชีพ ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านทักษะต่างประเทศเพื่อรองรับการเข้าสู่ AEC ตามที่ภาคเอกชนต้องการ โดยยกตัวอย่าง การทำงานบูรณาการร่วมทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น คณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งเป็น อุตสาหกรรมก้าวหน้าที่สำคัญของประเทศอุตสาหกรรมหนึ่ง ที่มีความต้องการกำลังคนอีกประมาณ 5 - 6 แสน ซึ่งการจะทำงานร่วมกันในหน่วยงานรัฐที่มีกระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ ภาคเอกชนที่มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ร่วมกันพัฒนาการอาชีวศึกษาโดยการจัดเป็นการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการจัดการอาชีวศึกษา ภาคเอกชนมีความพึงพอใจมาก เพราะนักเรียนนักศึกษาต้องไปฝึกอาชีพ ในสถานประกอบการเป็นกรอบเวลาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของหลักสูตร โดยที่นักเรียนนักศึกษาก็จะได้รับเบี้ยเลี้ยงในระหว่างเรียน ได้รับการฝึกเทคโนโลยีใหม่จากสถานประกอบการในขณะที่สถานประกอบการเองก็จะได้เตรียมกำลังคนไว้ในอนาคตและยังได้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการช่วยฝึกกำลังคนในครั้งนี้
Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย สืบเนื่องจากปัญหาขยะมูลฝอยตกค้างที่กองทิ้งเป็นภูเขา มีการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมบ่อขยะที่แพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ และเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงประกาศให้ “ขยะมูลฝอยเป็นวาระแห่งชาติ” และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จัดทำ Roadmap การจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมดำเนินการ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย ได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน สรุปผลความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ดังนี้
1.การกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสม (ขยะมูลฝอยเก่า) ใน 6 จังหวัดวิกฤต ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดสระบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ โดยใน 4 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สระบุรี และลพบุรี มีจำนวนขยะมูลฝอยตกค้างสะสม รวม 907,000 ตัน สามารถกำจัดได้แล้ว จำนวน 130,635 ตัน คิดเป็นร้อยละ 14 และในส่วนจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดสมุทรปราการ มีจำนวนขยะมูลฝอยตกค้างสะสมรวม 10,140,000 ตัน สามารถกำจัดได้แล้ว จำนวน 8,103,500 ตัน คิดเป็นร้อยละ 80 ส่วนจังหวัดอื่น ๆ อีก 71 จังหวัด มีแนวทางในการกำจัดขยะมูลฝอยตกค้างสะสมด้วยการฝังกลบ โดยใช้ดินฝังกลบขยะมูลฝอยภายในพื้นที่ และปรับพื้นที่เพื่อรองรับขยะมูลฝอยใหม่ หรือขนย้ายขยะ มูลฝอยไปกำจัดอย่างถูกต้องในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอื่น หรือร่วมกับเอกชนรื้อร่อนขยะมูลฝอยเพื่อผลิตเป็นแท่งเชื้อเพลิง RDF ป้อนเข้าสู่เตาเผาปูนซีเมนต์ หรือเตาเผาเพื่อผลิตพลังงาน
2.การวางแผนบริหารจัดการขยะมูลฝอยใหม่ (ควบคู่ไปกับการจัดการขยะมูลฝอยเก่า) ด้วยการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง จำนวน 98 แห่ง มุ่งการคัดแยกขยะมูลฝอย การเก็บขน
ขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท การกำจัดขยะมูลฝอยแบบถูกต้อง กิจกรรมจัดการขยะมูลฝอยแบบศูนย์รวม และการรวมกลุ่มพื้นที่องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดเป็นศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม (Cluster) แบ่งเป็น
ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ (S M L) ตามปริมาณขยะมูลฝอยและรัศมีการเก็บรวบรวม ในเบื้องต้น แบ่งเป็น 246 กลุ่มพื้นที่ จำแนกเป็นขนาดใหญ่ 31 แห่ง ขนาดกลาง 142 แห่ง ขนาดเล็ก 73 แห่ง และอีก 60 สถานีขนถ่าย
นอกจากนี้ ยังกำจัดขยะโดยใช้เทคโนโลยีแบบผสมผสานให้ความสำคัญกับการแปรรูปเป็นพลังงาน แปรรูปขยะมูลฝอยเป็นพลังงานไฟฟ้า จำนวน 53 แห่ง โดยประมาณว่าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้รวมทั้งสิ้น 227.58 เมกกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันเปิดดำเนินการแล้ว 2 แห่ง คือ เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้า ได้ 25.7 เมกกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 3 แห่ง คือ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น และเทศบาลตำบลแม่ขรี จังหวัดพัทลุง ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการลงนามในสัญญา/MOU จำนวน 2 แห่ง คือ เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง จังหวัดระยอง อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม จำนวน 1 แห่ง คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอยู่ระหว่างการเจรจา จำนวน 45 แห่ง ทั้งนี้ พื้นที่ 45 แห่ง ดังกล่าวอาจลดลง โดยเปลี่ยนเป็นสถานีขนถ่าย หรือ การผลิต RDF ตามความเหมาะสม
3.การวางระเบียบมาตรการการบริหารจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย เพื่อให้การจัดการขยะมูลฝอยมีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ลดความซ้ำซ้อนและแก้ไขอุปสรรคในการกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ง่ายต่อการการบริหารจัดการในองค์รวมทั่วประเทศ และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องจะได้จัดทำกฎและระเบียบเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยและของเสียอันตราย ดังนี้ กฎกระทรวงการคัดแยก เก็บขน และกำจัดมูลฝอย กฎกระทรวงว่าด้วยสุขลักษณะการจัดการมูลฝอยทั่วไป กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการเก็บขนและกำจัดมูลฝอย ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการขยะแห่งชาติ พ.ศ. …. (คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดือนกรกฎภาคม 2558) และร่าง พระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และซากผลิตภัณฑ์อื่น พ.ศ. …. (คาดว่าจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดือนเมษายน 2558
ทั้งนี้ เพื่อสร้างวินัยของคนในชาติมุ่งสู่การจัดการที่ยั่งยืน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้มีหลักสูตรการเรียนเกี่ยวกับการลด คัดแยกขยะมูลฝอย และการจัดการขยะมูลฝอย ตั้งแต่ระดับเยาวชน รวมทั้งส่งเสริมสถานศึกษาดำเนินกิจกรรมลด คัดแยก และนำขยะมูลฝอยไปใช้ประโยชน์
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ข้อมูล จากฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มา: http://www.thaigov.go.th