(13 กุมภาพันธ์ 2558) เวลา 13.30 น. ในโอกาสที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ให้การต้อนรับ จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมชมผลงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาลในการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและพัฒนา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) และสอดคล้องกับหนึ่งในแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นั้น มี 8 หน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ นำผลงานวิจัยเด่น 48 ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางการเกษตร ส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน นอกจากนี้ยังมองถึงสุขภาพของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ และความมั่นคงทางพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในรูปแบบนิทรรศการพิเศษ รวมผลงานวิจัยแล้วสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้หลายหมื่นล้านบาท
สำหรับตัวอย่างงานวิจัยฯ อาทิ เทคโนโลยีการฉายรังสีอัญมณี ของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ให้บริการไปแล้ว 5 ล้านกะรัต คิดเป็นมูลค่า 2,300 ล้านบาท ด้าน สวทช.? นำเทคโนโลยีฟิล์มยืดอายุผักและผลไม้สด เช่น ลำไยซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในช่วง 4 ปีหลังได้ถึง 1,102 ล้านบาท การแปรรูปยางธรรมชาติเพื่อนำไปสร้างลู่-ลานกรีฑาสนามกีฬาและลานเอนกประสงค์ ของกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (สซ.) ร่วมมือกับ “เอสซีจี เคมิคอลส์” พัฒนาเม็ดพลาสติกด้วยแสงซินโครตรอน สวทช.พัฒนาข้าวพันธุ์คุณภาพ “หอมชลสิทธิ์ทนน้ำท่วมฉับพลัน” และพันธุ์ “ธัญสิริน” ที่สร้างรายได้ให้ชุมชนมากกว่า 1,600 ล้านบาท นอกจากนี้ยังขยายผลการนำนาโนเทคโนโลยีมาเพิ่มมูลค่าเครื่องสำอางไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีและโอท็อป ด้วยการเร่งการก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องสำอางต้นแบบมาตรฐานจีเอ็มพี เตรียมพร้อมรองรับการผลิตที่เพิ่มขึ้น มูลค่าส่งออกเครื่องสำอางไทยกว่า 21,200 ล้านบาท คาดว่าจะลดการนำเข้าวัตถุดิบสารสกัดได้ถึง 2,000 ล้านบาท
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ชูเทคโนโลยีชีวภาพเซรั่มน้ำยางพารา ร่วมวิจัยพัฒนากับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร เปลี่ยนเซรั่มไร้ราคาเป็นสารสกัดบำรุงผม หนังศีรษะ ผิวพรรณ และอาหารเสริมทางการแพทย์ และเป็นสารตั้งต้นสำหรับเป็นยารักษาโรคมะเร็ง ด้านสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำบล็อกประสานซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างชนิดผนังรับน้ำหนักและผลิตได้ง่าย สร้างมูลค่า 1,580 ล้านบาทต่อปี ด้าน สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก) ยกระบบโครงสร้างน้ำชุมชนและระบบบริหารจัดการน้ำ พร้อมเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ เตรียมน้ำให้เกษตรกรมีใช้ในการเพาะปลูกตลอด 12 เดือน สู้ภัยน้ำท่วม ภัยแล้ง ไม่จำเป็นต้องอพยพเพื่อเป็นกรรมกรขายแรงงานอีกต่อไป ส่วนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เปิดผลงานรถฉุกเฉินทางรังสี พร้อมรับเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีภายในประเทศ และเตือนภัยการรั่วไหลของรังสีจากต่างประเทศ พร้อมสร้างความมั่นใจให้คนไทยปลอดภัยทางรังสีและนิวเคลียร์ตลอดเวลา
ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า ผลงานการวิจัยและพัฒนาของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีทั้งที่กระทรวงฯ วิจัยและพัฒนาขึ้นมาเองและที่เกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งที่เอกชนนำไปใช้ประโยชน์แล้วและกำลังจะนำไปพัฒนาต่อยอด ชาวบ้านได้ประโยชน์จากหลายโครงการ วันนี้เรามีผู้ใช้ประโยชน์หลายรายมาร่วมงาน ทั้งชาวบ้าน ผู้ประกอบการรายใหญ่และระดับเอสเอ็มอี นอกจากงานที่เลือกมาแสดงในวันนี้แล้วยังมีอีกหลายงานที่มีผู้สนใจนำไปใช้ประโยชน์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จำเป็นต้องทำหน้าที่เป็นข้อต่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างงานวิจัยดีๆ ในห้องแล็ปสู่ตลาดให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก วทน. อย่างเต็มที่ ในที่สุดจะมีภาคเอกชนมาร่วมลงทุน วิจัยและพัฒนา เกิดนวัตกรรมที่ทำให้ประเทศไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้
ข่าวโดย : ทีมงานโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ภาพและวีดีโอ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์, นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทร. 02 333 3727-3732 โทรสาร 02 333 3834
E-Mail : pr@most.go.th Facebook : sciencethailand
เผยแพร่ข่าว : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th