ภายหลังพิธีเปิดงานนิทรรศการ และให้ผู้บริหารเยี่ยมชมนิทรรศการวิชาการแล้ว ได้มีการจัดเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ "Work-Based Learning"
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในการเสวนาเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐต่อแนวทางในการจัดการศึกษาสายวิชาชีพว่า ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้ามาบริหารประเทศ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้มีแนวทางในการสนับสนุนการจัดการอาชีวศึกษา เพื่อให้ "อาชีวะสร้างชาติ" ซึ่งตนก็ได้กล่าวหลายครั้งเช่นกันว่า การจัดการศึกษาในปัจจุบันจะต้องนำไปสู่การมีงานทำ เพราะการมีเพียงวุฒิบัตรการศึกษาที่สูงก็ไม่ใช่เป็นหลักประกันต่อการมีงานทำอีกต่อไป ซึ่งการจัดการศึกษาระดับอาชีวศึกษาจึงเป็นการสร้างโอกาสให้เด็กไทยจบออกไปแล้วมีงานทำ
อย่างไรก็ตาม แนวคิดที่สำคัญของการจัดการอาชีวศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนมี 2ส่วนหลัก, ส่วนแรก : จะทำอย่างไรให้คนเหมาะสมกับงาน ดังนั้นการจัดหลักสูตรสายอาชีวศึกษาจึงต้องเปลี่ยนไปจากเดิมที่ส่งเด็กออกไปฝึกงาน แต่ปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นไปในลักษณะ "เรียนไป-ทำงานไป" เพราะฉะนั้นลักษณะการเรียนการสอนสายอาชีพที่เป็นรูปแบบ Work-Based Learning จึงมีมากขึ้น หรืออาจจัดเป็นรูปแบบอื่นๆ เช่น ทวิภาคี สหกิจศึกษา หรือ Practice School เป็นต้น
ส่วนที่สอง : การเพิ่มผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่งจะต้องมีการส่งเสริมภาพลักษณ์การอาชีวศึกษาที่ดีให้เกิดขึ้นในสายตาพ่อแม่ผู้ปกครอง ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ร่วมมือกันจัดการศึกษาให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายได้เรียนสายวิชาชีพในโรงเรียนสามัญ ซึ่งจะทำให้เด็กที่จบออกมาได้รับวุฒิการศึกษาทั้ง ม.6 และ ปวช.
การที่ภาคเอกชนเช่น ซีพี ออลล์เข้ามาช่วยส่งเสริมจัดการศึกษาสายอาชีพ จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดทักษะในการทำงานที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากภายในสถานศึกษา แต่มาจากการได้รับประสบการณ์การทำงานจริง จึงขอชื่นชมรูปแบบการจัดการศึกษาของวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ ที่มุ่งสร้างโอกาสทางการศึกษาให้เด็กและการผลิตบุคลากรป้อนภาคอุตสาหกรรมค้าปลีกของประเทศไทย
นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวถึงแนวนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนของซีพี ออลล์ ว่า จากนี้ไปจะเข้าสู่ยุคประชาคมอาเซียน ซึ่งประเทศไทยมีความได้เปรียบ เพราะอยู่ใจกลางภูมิภาคเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ซึ่งจะทำให้มีผู้คนสนใจเข้ามาลงทุนในเมืองไทยมากขึ้น เชื่อว่าประเทศไทยยังคงต้องการผลิตนักบริหารจัดการอีกเป็นจำนวนมาก อันจะช่วยให้ต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนไม่จำเป็นต้องนำนักบริหารจัดการเข้ามา เพียงแต่นำนักไดเร็คเตอร์เข้ามาก็พอ
ตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการสร้างนักบริหารจัดการ คือ เซเว่น อีเลฟเว่น ที่ฝึกเด็กเพียง 3 เดือน เมื่อกลับไปจะทำให้ผู้ปกครองพบว่าเด็กๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เพราะเด็กๆ เมื่อไปทำงานในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จะเจอลูกค้าที่หลากหลายโดยเฉลี่ยประมาณ 400 คนต่อผลัดการทำงาน ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ การแก้ปัญหา และประสบการณ์จริงจากการทำงาน ซึ่งร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นห้องเรียนที่สำคัญมาก และเมื่อเด็กทำงานครบ 3 เดือนก็กลับมาเรียน ได้เจอเพื่อนฝูง
รูปแบบของการทำงานไป-เรียนไป สลับกันแบบนี้ จะทำให้เด็กเป็นผู้ใหญ่ มีวินัย และรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กศน. กล่าวถึงการจัดการศึกษาสายอาชีพว่า ถือว่าเป็นยุคทองของ กศน. เพราะปัจจุบันมีผู้เรียนนอกระบบฯ ทั้งหมดกว่า 1.2 ล้านคน แยกเป็น ม.ปลาย 6 แสนกว่าคน และ ม.ต้น5 แสนคน
จากการสอบถามไปยังผู้เรียน ม.ต้น พบว่าในจำนวนกว่า 5 แสนคน มีผู้จบ ม.3 ออกมาประมาณ 8 หมื่นคน ซึ่ง กศน.ไม่ต้องการให้เด็กกลุ่มนี้เข้าไปเรียนสายสามัญในระดับ ม.ปลายอีก เพราะอาจจะนำไปสู่การว่างงานได้ ดังนั้นเด็ก กศน.ที่จบ ม.3 กว่า 8 หมื่นคนจะกลายเป็นลูกค้าที่สำคัญของสถานศึกษาอาชีวะทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งซีพี ออลล์ ด้วยเช่นกัน ที่จะมีส่วนสร้างเด็กๆ กลุ่มนี้ให้กลายเป็นนักบริหารจัดการ และจบออกไปแล้ว มีอาชีพติดตัว มีงานทำ
ต้องขอขอบคุณซีพี ออลล์ ทีได้ให้การสนับสนุนและการลงนามความร่วมมือจัดการศึกษาอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้เกิดขึ้นในห้องเรียน กศน.
นายพีรศักดิ์ รัตนะ รองเลขาธิการ กช.กล่าวว่า ขอขอบคุณในความร่วมมือที่ผ่านมาของซีพี ออลล์ ในการจัดการศึกษาระบบทวิภาคีกับอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งช่วยให้นักเรียนอาชีวะเอกชนได้เข้าไปทำงานเซเว่น อีเลฟเว่น นอกจากนี้มีตัวอย่างนักเรียนชายแดนภาคใต้จาก อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ได้รับโอกาสเข้ามาเรียนในวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ได้ 6 เดือน กลับไปบ้าน ก็ช่วยพัฒนาร้านขายของชำของลุง โดยปรับโฉมจากเดิม เช่น ทาสี เพิ่มแสงสว่างภายในร้าน จัดวางสินค้าผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นหมวดหมู่ และนำระบบเช็คสต็อกสินค้าเข้ามาใช้ในร้าน จัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในร้าน โดยนำสินค้าที่ขายไม่ออกมาลดราคาหรือเป็นของแถม เพื่อระบายสินค้า ซึ่งทำให้ร้านขายของชำเล็กๆ เติบโตขึ้นได้ ตัวอย่างนี้ยืนยันถึงความสำเร็จของการสร้างนักบริหารจัดการที่ดี
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาได้มีความเห็นสอดคล้องเกี่ยวกับ "คาแรคเตอร์" ของเด็กที่จบสายอาชีวศึกษา ซึ่ง รมช.ศึกษาธิการ ฝากให้วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ได้ศึกษาเปรียบเทียบในเรื่องนี้ว่า เด็กที่จบออกไปจะมีคาแรคเตอร์อย่างไรบ้าง เช่น ความตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ ฯลฯ ในขณะที่นายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ กล่าวเห็นด้วยที่จะสร้างเด็กไทยให้มีคาแรคเตอร์ เพราะคนที่จะเป็นนักบริหารจัดการจะต้องซื่อสัตย์ ไม่โกง เพราะถ้าเป็นคนโกง ก็จะไม่มีใครจ้างเข้ามาทำงาน และจะต้องทำงานแบบคนใจรักงาน กัดไม่ปล่อยหรือไม่ยอมแพ้ ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนควรเน้นให้เด็กรักงาน รู้จักงาน ก็จะมีส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างคาแรคเตอร์ที่ดีให้เกิดขึ้นแก่เด็กด้วย
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
Published 13/2/2558
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ที่มา: http://www.thaigov.go.th