เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้วันปิดภาคเรียน ประกอบกับในเดือนเมษายนและพฤษภาคมจะมีวันหยุดต่อเนื่องหลายเทศกาล พ่อแม่ผู้ปกครองจะถือโอกาสพาครอบครัวเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก และเมื่อเดินทางกลับจะซื้อของฝากของที่ระลึกหรือสินค้าแบรนด์เนมที่นิยมกลับมาด้วย โดยไม่ทราบถึงกฎระเบียบการนำของติดตัวเข้าประเทศว่ามีข้อกำหนดไว้อย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรแล้วอาจต้องชำระอากรสำหรับของที่มีมูลค่าเกินกว่ากฎหมายอนุญาตหรืออาจต้องเสียค่าปรับ หรือถูกริบของบางรายการที่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด กรมศุลกากรจึงขอแจ้งให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่กำลังจะเดินทางไปต่างประเทศได้ทราบถึงข้อปฏิบัติด้านพิธีการทางศุลกากรดังกล่าว เพื่อให้ผู้โดยสารสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องก่อนนำของเข้าประเทศว่า กรมศุลกากรได้จัดบริการช่องผ่านพิธีการศุลกากรแก่ผู้โดยสารขาเข้า ณ ท่าอากาศยานนานาชาติ ตามมาตรฐานสากล 2 ช่องทาง ได้แก่
1.ช่องตรวจเขียว สำหรับผู้โดยสารที่ไม่มีของต้องเสียภาษีอากร นั่นหมายถึงของที่ละเว้นการเสียภาษีอากร อันได้แก่ ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดไม่เกิน 10,000 บาท (ซึ่งมิใช่ของต้องห้าม ของต้องกำกัด หรือเสบียงและต้องเป็นของที่ไม่มีลักษณะเป็นสินค้าในเชิงการค้า) ของใช้ส่วนตัวหรือใช้ในวิชาชีพที่ซื้อจากร้านปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มูลค่ารวมกันไม่เกิน 20,000 บาท ของใช้ในบ้านเรือนที่ผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเนื่องจากย้ายภูมิลำเนา โดยซื้อจากร้านค้าปลอดอากรที่ตั้งอยู่ในสนามบินศุลกากร มูลค่ารวมกันไม่เกิน 50,000 บาท บุหรี่ไม่เกิน 200 มวน หรือยาสูบ ไม่เกิน 250 กรัม หรือรวมกันไม่เกิน 250 กรัม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปริมาตรไม่เกิน 1 ลิตร เป็นต้น
2.ช่องตรวจแดง สำหรับผู้โดยสารที่มีของต้องเสียภาษีอากร (ของมีจำนวนและประเภทที่นอกเหนือจากการละเว้นภาษีอากร) ของต้องห้าม (ห้ามมิให้นำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ได้แก่ สารเสพติด วัตถุหรือสื่อลามก ของเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ของละเมิดลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา ธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ปลอม และสัตว์ป่าสงวน) ของต้องกำกัด (ควบคุมการนำเข้าและส่งออกนอกราชอาณาจักร ซึ่งต้องได้รับหนังสืออนุญาตจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะสามารถขนย้ายได้) หรือไม่แน่ใจว่าของที่นำเข้ามานั้นต้องเสียภาษีอากรหรือไม่
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเน้นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้าประเทศโดยมิได้ทำการตรวจสัมภาระของผู้โดยสารทุกคน แต่จะสุ่มตรวจด้วยเครื่อง X-Ray ตามหลักมาตรฐานสากล ฉะนั้น การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพิธีการทางศุลกากรจึงถือเป็นหน้าที่ที่ผู้โดยสารทุกคนควรตระหนักและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การมีของที่ต้องสำแดงแต่หลีกเลี่ยงไม่สำแดงขณะผ่านจุดตรวจไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจพบ จะถือเป็นความผิดโดยการปรับ 4 เท่าของมูลค่าของบวกค่าภาษีและอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ และของที่หลีกเลี่ยงการชำระอากรจะถูกริบเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายศุลกากรทันที
ที่มา : กระทรวงการคลัง
ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
ที่มา: http://www.thaigov.go.th