บ่ายวันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2558) ศาสตราจารย์นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย ร่วมกันเปิดงาน “รณรงค์ตลาดสะอาด อาหารปลอดภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน” ที่ศาลเจ้าซอยเล่งป๋วยเอี๊ยะ ถนนเยาวราช กรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร โดยแจกเอกสารคำแนะนำความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย การล้างผัก การเลือกเนื้อสัตว์แก่ประชาชนและพ่อค้าแม่ค้า จำนวน 400 ชุด พร้อมสาธิตการล้างผักผลไม้ และการเลือกซื้ออาหารไหว้เจ้า
ศ.นพ.รัชตะกล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มีประมาณ 10 ล้านคนทั่วประเทศ มีจะมีการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยใช้อาหารคาว หวาน ผลไม้ โดยเฉพาะเป็ดและไก่ เป็นเนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาปรุงเป็นของไหว้ในเทศนี้มาก รัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญเรื่องอาหารต้องมีคุณภาพมีคุณค่าทางโภชนาการ และปลอดภัยจากสารอันตรายหรือเชื้อโรคปนเปื้อน เนื่องจากเป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพดี ได้มอบให้กรมอนามัยประสานกทม. และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รณรงค์ความสะอาดร้านอาหารตลาดสดทั่วประเทศในช่วง1-2สัปดาห์ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน และเผยแพร่ความรู้ประชาชนในการเลือกซื้อและการปรุง ป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อยคือ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งทั่วประเทศมีรายงานปีละกว่า 1 ล้านราย รวมทั้งการปนเปื้อนสารอันตรายที่อาจสะสมในร่างกาย และก่อผลในระยะยาวเช่น โรคมะเร็ง ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตคนไทยอันดับ 1 ปีละประมาณ 60,000 คน ติดต่อกันกว่า 12 ปี ในการเลือกซื้ออาหารเซ่นไหว้ตรุษจีนปีนี้ มีข้อแนะนำประชาชนให้ยึดหลัก 4 ส. 1 ร. คือเลือกซื้อของสด ทำให้สะอาด ปรุงให้สุก เก็บใส่ตู้เย็น เน้นรับประทานขณะร้อน
“เรื่องที่น่าห่วงคือ พบว่ายังมีประชาชนบางส่วนนิยมปักธูปลงในอาหารและผลไม้ขณะทำการเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันตรายต่อร่างกาย เนื่องจากสีที่ย้อมก้านธูปมักเป็นสีย้อมผ้า ซึ่งจะมีสารเคมีหลายตัวเป็นส่วนประกอบหลัก เช่นสารตะกั่ว ปรอท สารหนู โครเมียม เป็นต้น อาจละลายลงในอาหาร ความร้อนไม่สามารถทำลายได้ เมื่อรับประทานเข้าไปจะทำให้เกิดอาการทั้งชนิดเฉียบพลันเช่น สารปรอท อาจเกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และสะสมในร่างกาย เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งในระยะยาวได้ จึงขอให้ปักธูปในกระถางแยกต่างหากจากของไหว้” ศ.นายแพทย์รัชตะกล่าว
ด้านนายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลักปฏิบัติ 4 ส. 1 ร. ได้แก่ 1.ซื้อของสด เลือกซื้อเป็ด ไก่ ตัวที่เนื้อแน่น สีสด ไม่ซีดหรือมีจ้ำเขียวๆ ไม่มีแผลตามตัว ลูกตาไม่ลึกบุ๋ม ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีเมือกที่ผิวหนัง และไม่มีเลือดคั่งหรือจุดแดงกระจายตามผิวหนังซึ่งเป็นลักษณะบ่งชี้ว่าอาจตายด้วยโรคติดเชื้อ ผัก ผลไม้ ต้องดูที่สะอาดไม่มีเศษดิน โคลน หรือมูลสัตว์ติดมา ผักใบควรมีร่องรอยแมลงกัดแทะบ้าง 2.ทำให้สะอาด การเตรียมเป็ด ไก่ ก่อนนำมาประกอบอาหาร ต้องล้างให้สะอาด 2-3 ครั้ง และล้างในช่องท้องให้สะอาดทั่วถึงด้วย ส่วนผัก ผลไม้ ควรล้าง
ด้วยน้ำเปล่าก่อน 1 ครั้ง จากนั้นนำมาแช่ในน้ำผสมเกลืออัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือน้ำส้มสายชู อัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร หรือโซเดียมไบคาร์บอนเนตหรือเบคกิ้งโซดา อัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15-30 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำเปล่าอีก 2 ครั้ง
3.ปรุงให้สุก เป็ด ไก่ ควรต้มให้สุกอย่างทั่วถึง ด้วยความร้อนไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส ให้พลิกตัวสลับด้านระหว่างต้มด้วย สำหรับเป็ด ไก่ที่แช่แข็งไว้ ไม่ควรนำมาต้มทันที เนื่องจากจะทำให้ส่วนเนื้อที่อยู่ด้านใน ติดกระดูกอาจไม่สุก ควรนำออกมาแช่เย็นช่องธรรมดา 1 คืนก่อนต้ม เพื่อน้ำแข็งละลายก่อน ส่วนขนมต่างๆ เช่น ขนมเทียน ขนมเข่ง ขนมถ้วยฟู ควรเลือกที่ปรุงสุกใหม่ๆ หรือมีการบรรจุหีบห่อ 4.เก็บใส่ตู้เย็น และ5.เน้นรับประทานขณะร้อน ภายหลังจากเสร็จพิธีแล้ว อาหารที่เซ่นไหว้ โดยเฉพาะเป็ด ไก่ หากจะนำมารับประทาน ควรนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกทั่วถึงอีกครั้ง เช่น ต้ม ทอดหรือผัด นอกจากนี้การเดินทางไปท่องเที่ยวในช่วงตรุษจีนนี้ ต้องระมัดระวังในการเลือกรับประทานอาหารจากร้านอาหารต่างๆในสถานที่ท่องเที่ยวที่ไป ควรเลือกไปรับประทานอาหารจากร้านอาหารที่ได้รับการรับรองจากทางราชการ สังเกตง่ายๆ จากป้ายอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Test หรือ Clean Food Good Test plus) เพื่อความมั่นใจในความสะอาด ปลอดภัย
16 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th