ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ประเด็นที่สำคัญคือ รัฐบาลพยายามผลักดันให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้านวัตกรรมเองได้ ที่สำคัญรัฐบาลจะเร่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการไทยเพื่อให้ผู้ประกอบการทำงานเชื่อมโยงกับผู้ผลิต โดยวางมาตรการให้ผู้ประกอบการเล็กๆ สามารถผลิตสินค้าเองได้ ซึ่งรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายสิทธิการลดหย่อนภาษี การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา สำหรับเงินบริจาคเข้ากองทุนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนา นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างการแก้ไขระเบียบพัสดุของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เอื้อกับการจัดซื้อจัดจ้างในสินค้าและบริการที่ใช้นวัตกรรมของไทยมากขึ้น การจัดระบบพัฒนานวัตกรรมไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมของคนไทย รวมถึงการส่งเสริมความสามารถในการผลิตและบริการในแต่ละด้านโดยเน้นความต้องการของประชาชนเป็นหลัก
ทั้งนี้ ความก้าวหน้าในการเดินหน้านโยบายการจัดซื้อจัดจ้างจะต้องมีการเจรจากับกระทรวงการคลัง สำนักงานรัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้เก็บรายได้รัฐวิสาหกิจ ออกแบบระเบียบการนำผลกำไรมาใช้ในงานวิจัยและพัฒนาเพื่อให้นโยบายด้านการสนับสนุนนวัตกรรมเดินหน้าได้อย่างเต็มที่
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกร ประชาชน นักธุรกิจ โดยการผลักดันและยกระดับนวัตกรรมให้เป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยลดความเหลื่อมล้ำ และมีโอกาสหลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ปานกลาง สิ่งที่สามารถปรับปรุงและดำเนินการได้คือการนำนวัตกรรมมาสนับสนุนการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ไปจนถึงการปฏิรูปงบประมาณด้านนวัตกรรม เพื่อใช้เป็นหลักเงินทุนในอนาคตที่จะนำไปสู่งานวิจัยใช้ได้จริง ทั้งนี้การพัฒนากำลังคนเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล และเป็นแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ที่เป็นส่วนช่วยส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญอย่างมากสำหรับนวัตกรรมใหม่ใช้ได้จริง และนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจกับผลงานวิจัยงานด้านความมั่นคงของประเทศ เช่น อุปกรณ์ป้องกันตัวของเจ้าหน้าที่และเครื่องรบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อป้องกันการจุดชนวนระเบิด พร้อมกับจะเดินหน้าขับเคลื่อนการสนับสนุนนวัตกรรมโดยจะสั่งการให้หน่วยงานราชการได้ซื้อนวัตกรรมที่จำเป็นไปใช้ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายและหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจ
นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า รัฐบาลได้เดินหน้านโยบายเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ชัดเจนซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก การเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนานวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์โดยการลดหย่อนภาษีงานวิจัยและพัฒนา เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ในสัดส่วนการลงทุนภาครัฐต่อภาคเอกชน 30:70 เช่น มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาจาก 200 เปอร์เซ็นต์ เป็น 300 เปอร์เซ็นต์ โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการต่างประเทศจะหันมาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการลงทุนมากขึ้นก็ย่อมมีความต้องการด้านบุคลากรนักวิจัยมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เด็กๆ และเยาวชนที่เรียนด้านวิทยาศาสตร์จบมาจะมีงานรองรับซึ่งนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีของประเทศไทยจากการผลักดันนโยบายที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลและคณะกรรมการชุดนี้ ในส่วนของนโยบายที่ขับเคลื่อนด้านการจัดซื้อจัดจ้างของระบบราชการที่ทำให้สินค้านวัตกรรมของไทยชัดเจนนั้น จะส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิตได้นับเป็นนโยบายที่ดีมาก นวัตกรรมของประเทศจะขยายตัวอย่างมากและจะเกิดผลประโยชน์อย่างมหาศาลต่อประเทศไทย
ข่าวโดย : นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
ภาพข่าวโดย : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th