นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงให้ที่ประชุมฯ รับทราบว่า แม้วันนี้จะมีแม่น้ำ 5 สาย ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายให้ คสช. ได้รับทราบถึงเจตนารมณ์ แนวทางในการบริหารราชการ ตลอดจนปัญหาข้อขัดข้องของรัฐบาลที่ต้องการให้ คสช. เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาอีกทางหนึ่ง ขณะที่รัฐบาลก็พยายามบริหารราชการแผ่นดินตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด และพยายามที่จะทำให้ข้าราชการทุกกระทรวง ทบวง กรม ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทำงานในเชิงรุก เพื่อให้เกิดผลงานเป็นรูปธรรมและประโยชน์กับประชาชนโดยเร็ว โดยเฉพาะประชาชนผู้มีรายได้น้อยตามที่รัฐบาลที่ได้แถลงนโยบายต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความขัดแย้งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากก่อนที่ คสช.จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน และเริ่มส่งผลความขัดแย้งในวันนี้ให้เห็นมากขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังยืนยันว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่บนหลักของนิติรัฐและนิติธรรม เพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดความยั่งยืนให้ได้ เพราะฉะนั้น คสช. จำเป็นต้องรับทราบเรื่องเหล่านี้ เพื่อจะได้ช่วยกันแก้ปัญหา โดยต้องระวังไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น และต้องไม่สร้างให้เกิดปัญหาใหม่
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำให้ทุกส่วนได้รับทราบว่าขณะนี้มีคณะกรรมการขับเคลื่อนในการที่จะช่วยผลักดันการดำเนินงานของรัฐบาล 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายสำคัญและเร่งด่วนของรัฐบาล (กขน.) คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (กขย.) คณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล (กขร) คณะกรรมการขับเคลื่อนประจำกระทรวง หรือผู้ประสานงานบูรณาการการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล (ระดับกระทรวง) (ปขก.) ซึ่งแต่ละกระทรวงจะมีผู้แทนของแต่ละกระทรวงอยู่ในคณะนี้ เพื่อประสานงานกับคณะกรรมการขับเคลื่อนต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาในแต่ละเรื่องและการบริหารของแต่ละกระทรวงให้เป็นไปอย่างถูกต้องและตรงจุด และคณะในระดับพื้นที่หรือคณะกรรมการการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (กบจ.) ทั้งนี้มอบหมายให้ คสช. โดย กขย. เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยติดตามเร่งรัดการดำเนินงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกลุ่มงานด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ จิตวิทยาย กระบวนการยุติธรรม ต่างประเทศ เรื่องพิเศษต่าง ๆ ตลอดจนเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณในพื้นที่ซึ่งยังล่าช้า ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว
ขณะเดียวกันกระทรวงมหาดไทยจะต้องให้ความรู้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในเรื่องวิธีการบริหารงานของภาครัฐและการจัดทำแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว ป้องกันการทำงานที่ซ้ำซ้อนทำให้การทำงานอย่างเชื่อมโยงสอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อันจะส่งผลให้สอดคล้องกับนโยบายและเจตนารมณ์ของรัฐบาลคือมีความมั่นคงในทุกมิติทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย การต่างประเทศ มีความมั่งคั่งในทุกกลุ่มอาชีพของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และยั่งยืนบนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง มีน้อยใช้น้อย มีมากใช้มาก และมีการต่อยอดในอนาคต
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th