“ดร.พิเชฐ” เผยผลสำเร็จ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เปิดรับผลไม้ฉายรังสีของไทยเข้าประเทศเป็นครั้งแรก

ข่าวทั่วไป Tuesday February 17, 2015 16:25 —สำนักโฆษก

“ดร.พิเชฐ” เผยผลสำเร็จ นิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เปิดรับผลไม้ฉายรังสีของไทยเข้าประเทศเป็นครั้งแรก สทน.แจงใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฯฝ่าด่านกีดกันนำเข้าผลไม้ส่งออก การันตีปลอดภัยไร้แมลงรบกวน คาดมูลค่าส่งออกพุ่งเป็น 2,300 ล้านบาท ขณะที่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ออกโรงยัน มาตรการเฝ้าระวังรังสีเพื่อความมั่นคงตลอด 24 ชั่วโมงได้มาตรฐานสากล เตรียมขยายความร่วมมือประเทศเอเซียแปซิฟิค ตอบสนองเหตุการณ์ฉุกเฉินได้ทันท่วงที

17 กุมภาพันธ์/ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เชิงพาณิชย์ เป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่สนับสนุนการใช้ประโยชน์ของการศึกษาวิจัยและพัฒนา และ วทน. มาช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ส่งออกของไทย ทั้งด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ดำเนินการแก้ปัญหาการกีดกันนำเข้าอาหาร สมุนไพร และผลไม้ส่งออกของไทยหลายชนิดในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรป โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ทางนิวเคลียร์ด้วยการฉายรังสี อีกทั้งยังเร่งดำเนินการขยายตลาดสู่ประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ คาดว่ามูลค่าการส่งออกปีนี้จะเพิ่มเป็น 2,300 ล้านบาท นอกจากนี้ สทน. ยังตรวจวัดและออกใบรับรองกำกับปริมาณรังสีในสินค้าประเภทข้าว น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์นม เครื่องเทศ ปลากระป๋อง อาหารสัตว์ ฯลฯ ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA ) คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี และยังสามารถใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้าอัญมณีเนื้ออ่อนประเภท โทแพซ เบริล อความารีน ทัวมารีน ควอตซ์ ได้มากถึง 5-30 เท่า ในปี 2557 สร้างมูลค่าเพิ่มในการส่งออกให้กับอัญมณีฉายรังสีได้อีกราว 2,000 ล้านบาท

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดผลไม้ส่งออกในหลายประเทศสร้างมาตรการกีดกันการนำเข้าผลไม้บางชนิดเนื่องจากปัญหาแมลงศัตรูพืชที่มักปะปนอยู่ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาใช้ข้อกำหนดของ APHIS และ USDA3 บังคับให้สินค้าไทย 7 ชนิด คือ ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง มังคุด สับปะรด เงาะ และแก้วมังกร ต้องผ่านการฉายรังสี เพื่อควบคุม กำจัด และหยุดการแพร่พันธุ์ของแมลงศัตรูพืช เช่น แมลงวันทอง และยังสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร นอกจากนี้ประเทศไทยกำลังจะขยายตลาดการส่งออก ลำไยและลิ้นจี่ฉายรังสี ในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในปี 2558 โดยมีเจ้าหน้าที่กักกันพืชจากประเทศนิวซีแลนด์เข้าตรวจเยี่ยมศูนย์ฉายรังสี ภายใต้ สทน. และรับรองสุขอนามัยพืชทั้งสองชนิดแล้วเมื่อปลายปี 2557

ด้าน ดร.สมพร จองคำ ผู้อำนวยการ สทน. กล่าวว่า รังสีที่นำมาใช้เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าคล้ายกับแสงแดดที่จ้ามากๆ ถ้านำอาหารไปตากแดดฆ่าเชื้อ แล้วเอามาเข้าในที่ร่ม เราก็สามารถกินได้อย่างปกติ ถูกหลักอนามัย การฉายรังสีผลไม้ก็ไม่แตกต่างกัน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และ IAEA ได้สรุปผลการทดสอบความปลอดภัยของอาหารฉายรังสีว่า อาหารใดๆ ก็ตามที่ผ่านการฉายรังสีในปริมาณไม่เกิน 10,000 เกรย์ ไม่ก่อให้เกิดโทษอันตราย ไม่ก่อให้เกิดปัญหาพิเศษทางโภชนาการและจุลชีววิทยา และไม่จำเป็นต้องทดสอบความปลอดภัยอีกต่อไป ซึ่งหากเทียบกับปริมาณรังสีที่ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้ฉายรังสีเพื่อนำเข้าผลไม้ที่ 400 เกรย์นั้น คิดเป็นปริมาณที่น้อยกว่ากันถึง 25 เท่าตัว

นอกจากนี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ยังกล่าวถึงข้อกังวล ที่ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีกิจกรรมด้านนิวเคลียร์และรังสี ทั้งการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ การเกิดอุบัติเหตุโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ รวมถึงเหตุฉุกเฉินทางรังสีและนิวเคลียร์ในประเทศอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) มีมาตรการเฝ้าระวังรังสีเพื่อความปลอดภัยทางรังสีของประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง ระดับของการเตือนภัยเป็นไปตามตามมาตรฐานของ IAEA โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าด้วยกันและพร้อมดำเนินการได้ตลอดเวลา

“ปส.สามารถส่งต่อข้อมูลจากอุปกรณ์ตรวจวัดรังสีภายใต้เครือข่ายเฝ้าระวังภัยทางรังสีแห่งชาติที่กระจายอยู่ทั่วประเทศตาม 20 สถานี โดยมีสถานีตรวจวัดรังสีในอากาศ 17 สถานี ในน้ำ 3 สถานี กับ หน่วยปฏิบัติการตรวจวัดรังสีในสิ่งแวดล้อมเคลื่อนที่ ศูนย์ข้อมูลทางรังสีแห่งชาติ กลุ่มประสานงานเหตุฉุกเฉินทางรังสี ภายใต้ ปส. และบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องในการเฝ้าระวังรังสีของประเทศไทย โดยในอนาคตจะดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดเพิ่มเติมบริเวณชายแดน รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคภายใต้ IAEA ให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ในสภาวะฉุกเฉินได้ทันท่วงที” ดร.พิเชฐ กล่าว

ทั้งนี้ รมว.วท. ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบทางด้านรังสีและนิวเคลียร์ ได้นำรังสีและนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ และเพื่อชี้แจงให้สังคมได้เห็นและรับทราบถึงประโยชน์จากการใช้รังสีและนิวเคลียร์ในทางสันติ เช่น การส่งเสริมให้มีการส่งออกสินค้าไทยได้ดียิ่งขึ้นไม่ถูกกีดกันในการจำหน่ายสินค้าออกต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการตรวจตาเฝ้าระวัง ในกรณีที่มีการรั่วไหลของรังสี ทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ยังเปิดให้บริการเกี่ยวกับดินสอพองปลอดเชื้อ โดยการนำดินสอพองมาฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ดินสอพองที่จำหน่ายตามท้องตลาดส่วนใหญ่นั้นอาจจะยังไม่ได้รับการฉายรังสี อาจทำให้เกิดอาการแพ้เป็นผื่นคัน แสบตา ตาแดง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการใช้ดินสอพองที่ไม่สะอาดไม่ได้รับการฉายรังสี ทางสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) จึงนำเทคโนโลยีการฉายรังสีแกมมามาใช้บริการฉายรังสี ดินสอพองเพื่อฆ่าเชื้อก่อนจะนำไปจำหน่ายสู่มือผู้บริโภค โดยฉายรังสีลงบนเนื้อดินสอพองใช้เวลา1- 3 ชั่วโมงเพื่อลดปริมาณจุลินทรีย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อ ถึงระดับสเตอริไรซ์เซชั่น ที่สามารถทำลายจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์ และราได้

รศ.ดร.วีระพงษ์ กล่าวว่า มาตราฐานของผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีของสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) ได้รับมาตราฐานในระดับโลก รวมถึงผลไม้ทั้ง 7 ชนิด ที่ได้กล่าวในข้างต้น ซึ่งได้รับการตรวจเป็นอย่างดี และการเลือกบริโภคผลไม้ที่อาบรังสีนั้นสามารถเลือกดูได้จากผลไม้ที่ติดสัญลักษณ์ว่าผลไม้ชนิดนี้ได้รับผ่านการอาบรังสีแล้ว ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีหรือไม่ก็ขึ้นนั้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริโภคเอง และในประเทศไทยยังมีประชาชนส่วนใหญ่ที่ยัง เข้าใจอยู่ว่าผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีนั้นเป็นอันตราย แต่ซึ่งจริงๆแล้วผลไม้ที่ผ่านการอาบรังสีมนั้นสามารถรับประทานได้และไม่ก่อเกิดอันตราย

ดร.สมพร จองคำ ได้กล่าวว่าประโยชน์จากรังสียังสามารถนำใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ในการเพิ่มมูลค่าอัญมณี อัญมณีที่ประเทศไทยนำมาฉายรังสีได้เยอะที่สุด ก็คือประเภทโทแฟซ ซึ่งมีลักกษณะเป็นสีใสเมื่อฉายรังสีจะมีลักษณะเป็นสีฟ้า และประเทศที่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ อเมริกาและยุโรป

ข่าวโดย: ทีมโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ถ่ายภาพและวีดิโอ : นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์,นายรัฐพล หงสไกร

เผยแพร่ข่าว : นางสาวชลธิชา แสงเทียนสุวรรณ

ข้อมูลสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (สทน.) โทร: 02 401 9889 URL: www.tint.or.th

ข้อมูลสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) โทร: 02 579 5230, 02 596 7600, 02 562 0123 URL: www.oaep.go.th

ประสานข้อมูลทั่วไป: กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทร: 02 333 3727-32 โทรสาร: 02 333 3834 อีเมลล์: pr@most.go.th เฟสบุ๊ค: sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ