วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.โยนาส เทคเกิน (Dr.Yonas Tegegn) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO Representative to Thailand) ศาสตราจารย์ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. .... ว่า
กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ โดยปรับปรุงจากกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับคือ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ข้อบังคับต่างๆ มีความทันสมัยสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน จุดประสงค์หลักคือปกป้องเยาวชนไทยไม่ให้เข้าถึงการบริโภคยาสูบง่าย ป้องกันกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ รวมทั้งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นไปตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ที่ไทยร่วมลงนามกับ 180 ประเทศทั่วโลก
ศ.นพ.รัชตะกล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับจดหมายจากแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน (Dr. Margaret Chan) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก และจากดร.เวอรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา (Dr.Vera Luiza da Costa e Silva) เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ โดยทั้ง 2 ฉบับได้สนับสนุนการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลไทย ในการออกพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบดังกล่าว ซึ่งความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป ยืนยันว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ห้ามขายบุหรี่หรือห้ามสูบ แต่เป็นการอนุญาตที่มีขอบเขต เพื่อคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ และป้องกันการตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อว่าบุหรี่เป็นของดี
ทั้งนี้ ข้อความในจดหมายของผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้แจ้งว่า องค์การอนามัยโลกสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่กระทรวงสาธารณสุข และรัฐบาลไทย ได้พัฒนามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศให้ครอบคลุมตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก และชี้ว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีเนื้อหาครอบคลุมทุกด้าน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้การควบคุมการบริโภคยาสูบในประเทศไทยเป็นผลยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความพยายามของประเทศไทยในการลดอัตราการสูบบุหรี่ได้ผล แต่ยังมีข้อจำกัดในกลุ่มประชากรที่อยู่ในชนบทซึ่งยังมีปัญหาสูบบุหรี่สูง
นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ยังได้กล่าวในจดหมายว่า “ดิฉันไม่แปลกใจที่เห็นปฏิกิริยาจากธุรกิจยาสูบหรือกลุ่มต่างๆ ที่บริษัทบุหรี่สนับสนุนองค์กรบังหน้าเช่นสมาคมผู้ค้าปลีก ออกมาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.
พ.ร.บ. ฉบับนี้ ดิฉันขอยืนยันต่อท่านว่า ธุรกิจยาสูบได้ดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ในหลายประเทศแต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ตามการคัดค้านของธุรกิจยาสูบและเครือข่าย ซึ่งมักอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นเท็จหรือเสนอข้อมูลเกินจริงเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการควบคุมการบริโภคยาสูบนั้น ไม่ควรทำให้รัฐบาลลังเลในการดำเนินการเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชนไทย”
ขณะเดียวกันจดหมายของ ดร.เวอรา ลุยซา ดา คอสตา อี ซิลวา เลขาธิการภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ ได้กล่าวว่า สำนักเลขาธิการฯ ขอสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ เพราะเป็นมาตรการที่เข้มแข็งในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็ก โดยประเทศไทยได้ลงสัตยาบันในอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 ร่างพระราชบัญญัติใหม่นี้ จะทำให้มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศไทยสอดคล้องและครอบคลุมตามข้อบัญญัติในอนุสัญญาฯ และยืนอยู่บนแนวทางการปฏิบัติที่ได้รับฉันทามติจากที่ประชุมของประเทศภาคีสมาชิกทั่วโลก มั่นใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลในเรื่องนี้จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ที่จะคุ้มครองสุขภาพของประชาชนไทย”
ด้านดร.โยนาส เทคเกิน ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีกับประเทศไทย สำหรับความสำเร็จในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบ ที่โดดเด่นและประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งประเทศไทยได้นำนวัตกรรมใหม่ๆ ในการณรงค์เรื่องนี้ และกำหนดมาตรการที่มีประสิทธิภาพเป็นระยะๆ จึงไม่แปลกใจที่ประเทศไทยมีการยกร่างกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับใหม่ ที่ได้มีการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ให้เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบ และในนามขององค์การอนามัยโลก ขอสนับสนุนกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบใหม่อย่างเต็มที่
สำหรับสถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทยล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานผลสำรวจในปี 2557 พบประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 54.8 ล้านคน มีผู้สูบบุหรี่ 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 20.7 ในจำนวนนี้เป็นผู้สูบบุหรี่เป็นประจำ 10 ล้านคน และสูบนานๆ ครั้ง 1.4 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในปี 2556 ที่พบร้อยละ 19.9 โดยอายุเฉลี่ยของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรกคือ 17.8 ปี ที่น่าห่วงคือพบว่าในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี เริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 15.6 ปี ลดลงกว่าในปี 2550 ที่เริ่มสูบเมื่ออายุ 16.8 ปี ชี้ให้เห็นว่า นักสูบหน้าใหม่มีอายุน้อยลง จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นำมาตรการต่างๆ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อสกัดกั้นนักสูบหน้าใหม่ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
18 กุมภาพันธ์ 2558
http://goo.gl/7JJR8U
ที่มา: http://www.thaigov.go.th