ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกล่าวว่า การจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ สพฐ. ชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 5 ประจำปีการศึกษา 2557 ได้รับการสนับสนุนทั้งด้านสถานที่การจัดการแข่งขันบริเวณลานชั้น 5 ศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต รางวัลทุนการศึกษาจากศูนย์การค้าเซียร์ รังสิต คณาจารย์คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ชมรมครูหุ่นยนต์ไทย ชมรมนักประชาสัมพันธ์การศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งประเทศไทย ทั้งนี้การแข่งขันหุ่นยนต์จะเป็นกิจกรรมและสื่อการเรียนรู้ให้นักเรียนได้ศึกษาเรื่องการออกแบบหุ่นยนต์ให้ทำงานตามภารกิจด้วยกลไกต่างๆ การค้น การหยิบจับ การคีบ การยก การวาง บนพื้นที่ระดับต่างๆ นอกจากนั้นยังจะเป็นการฝึกฝนให้นักเรียนได้เรียนรู้ในเรื่องของการใช้ตัวควบคุมด้วยรีโมทแบบต่างๆ เพื่อฝึกความสัมพันธ์ของมือ ตาและฝึกจิตใจของผู้ควบคุมภายใต้ภาวะกดดันขณะทำการแข่งขัน”
ดร.พิธาน พื้นทอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบเครือข่ายและการมีส่วนร่วม สพฐ.กล่าวว่า การแข่งขันหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย สพฐ. ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนระดับชาติ ครั้งที่ 64 แบ่งการแข่งขันเป็น 4 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ขยายโอกาสทางการศึกษา) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นการแข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 12 โรงเรียนและระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 12 โรงเรียน และวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 แข่งขันหุ่นยนต์บังคับมือระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ขยายโอกาสทางการศึกษา) 12 โรงเรียน และระดับประถมศึกษา จำนวน 12 โรงเรียน ซึ่งนอกเหนือจากจะเป็นการเฟ้นหานักเรียนที่มีความสามารถด้านการออกแบบประดิษฐ์หุ่นยนต์และเขียนโปรแกรมควบคุมการทำงานของหุ่นยนต์แล้ว ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้หุ่นยนต์เป็นสื่ออีกด้วย
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th