พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมประชุมพร้อมรับหนังสือข้อเสนอด้านแรงงาน จาก น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) พร้อมคณะ ณ ห้องประชุม ศ นิคม ชั้น 5 กระทรวงแรงงาน โดย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท. ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงแรงงานที่ให้คงสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน สำหรับการลาออกของผู้ประกันตน ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 เช่นเดิม สำหรับข้อเสนอด้านแรงงาน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธาน คสรท. ได้นำเสนอข้อปัญหาแรงงานและแนวทางที่จะได้ร่วมกันปรึกษาหารือแก้ไขปัญหาใน 4 ประเด็น อาทิ การปรับแก้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ...เห็นว่ายัง เป็นร่าง พ.ร.บ.ที่มีความขัดแย้งและไม่สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ควรได้มีการปรึกษาหารือกันในทุกภาคส่วนก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ประการที่สองปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน พบหลายกรณีลูกจ้างยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างเช่นกรณีการถูกเลิกจ้างจากการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งตามขั้นตอนที่กฎหมายแรงงานกำหนดมีมากและใช้ระยะเวลายาวนานทำให้ลูกจ้างเดือดร้อนจากการขาดรายได้ ประเด็นถัดไปปัญหาการบริหารจัดการกองทุนประกันสังคม เช่น งบประมาณไปดูงานต่างประเทศของคณะกรรมการฯ ควรยกเลิก การจัดสรรงบประมาณเพื่อการอบรมให้ความรู้ผู้ประกันตน การแต่งตั้งกรรมการชุดต่างๆในคณะกรรมการประกันสังคมมีการหมุนเวียนและซ้ำซ้อน ควรตรวจสอบให้มีความโปร่งใส และต้องมีประสิทธิภาพเพราะเป็นเงินของผู้ประกันตน นอกจากนี้การทบทวนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำให้เหมาะกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ลูกจ้างเดิมและลูกจ้างเข้าใหม่ไม่ควรได้รับค่าจ้างวันละ 300 บาทเท่ากัน การให้ค่าจ้างให้เหมาะสมกับฝีมือและประสบการณ์การทำงาน
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในทุกมิติ อาทิ การดูแลกลุ่มแรงงานนอกระบบซึ่งได้มีการพูดคุยกับเครือข่าย อาทิ นางอรุณี ศรีโต มีการปรับแก้กฎหมายแรงงานหลายฉบับ และเพื่อให้การบริหารงานของกระทรวงแรงงานมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการปฏิบัติราชการ โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นกรรมการ และมี DSI และปปช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการปฏิรูปประกันสังคม ซึ่งระยะเร่งด่วนเพื่อให้การบริหารเกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ได้มอบให้ประกันสังคมดำเนินการยุบเลิกคณะกรรมการฯและอนุกรรมฯ ที่มีความซ้ำซ้อน ยกเลิกการไปดูงานต่างประเทศ ทำให้สามารถประหยัดงบประมาณได้มากกว่า 2,000กว่าล้านบาท และมีแนวคิดจัดตั้งสภาความร่วมมือแรงงานสัมพันธ์ โดยคณะกรรมการแต่งตั้งจากตัวแทนจากสภานายจ้าง สภาลูกจ้าง ภาคแรงงานนอกระบบ นักวิชาการด้านสันติวิธี และภาครัฐ เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีเวทีพูดคุยและร่วมกันแก้ข้อขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจถูกต้องเกี่ยวปัญหาแรงงาน ซึ่งจะรวมถึงการร่วมปรึกษาหารือและแสวงหาข้อตกลงในการแก้ไขกฎหมาย ตลอดจนอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ต่อไป
“บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ”
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
/พุทธชาติ อินทร์สวา-ข่าว
/สมภพ ศีลบุตร-ภาพ
/24 กุมภาพันธ์ 2558
ที่มา: http://www.thaigov.go.th