การประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 1/2558

ข่าวทั่วไป Friday February 27, 2015 17:10 —สำนักโฆษก

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 1/2558 โดยมีรองศาสตราจารย์นายแพทย์ กำจร ตติยกวี เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา อธิการบดีสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ห้องสุรนารี สุรสัมมนาคาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

Reprofiling Thai Higher Education ด้วยการมองประเทศไทยไปในอนาคตในระยะยาว

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่าการอุดมศึกษาเป็นเรื่องของการสร้างคน สร้างความรู้ การนำความรู้ไปใช้ แต่ปัจจุบันบริบทของสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป จึงต้องมีการทบทวนภารกิจการอุดมศึกษาไทย(Reprofiling Thai Higher Education) ด้วยการมองประเทศไทยไปในอนาคตในระยะยาว และต้องมีการจัดการภายในให้ได้ ซึ่งมองว่าการอุดมศึกษาไทยมีศักยภาพเพียงพอ แต่สิ่งที่ทำให้เกิดการติดหล่มคือเรื่องของธรรมาภิบาลและระบบการบริหารจัดการ สถาบันอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาถูกบีบเรื่องเวลา กำลังใจ และทรัพยากรต่างๆ ทำให้ศรัทธาที่มีต่อสถาบันอุดมศึกษาลดลงเพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจึงต้องมีการวางธรรมาภิบาลและระบบการบริหารจัดการที่ดีให้ได้

มองสังคมสูงวัย โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง

ปัจจุบันประชากรไทยร้อยละ 10 มีอายุเกิน 60 ปี ในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีประชากรร้อยละ 30 ที่มีอายุเกิน 60 ปี ในแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี พูดถึงสังคมสูงวัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยจะใช้รูปแบบการจัดการตามประเทศจากทวีปยุโรปหรือสหรัฐอเมริกาไม่ได้แล้ว เพราะคุณภาพของประชากรมีความแตกต่างกัน การมีสังคมสูงวัยเป็นทั้งอุปสรรคและโอกาสที่ดี ประเทศญี่ปุ่นสามารถจัดระบบเศรษฐกิจให้เติบโตได้โดยที่มีสังคมสูงวัยซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีในการนำมาศึกษาและปรับใช้ ต้องนำเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสังคมมาใช้เพื่อทำให้ผู้สูงวัยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีอิสระ สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทุนทางสังคม (Social Capital) ที่ดี จะทำอย่างไรเพื่อดำรงรักษาและเพิ่มทุนทางสังคมในการจัดการสังคมสูงวัย

ทำไมประเทศไทยจึงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

การพัฒนาแรงงานก็มีความจำเป็น เนื่องจากประเทศไทยลงทุนเพื่อประชากรวัยเรียนเป็นจำนวนมาก (ประมาณ 11-12 ล้านคน) แต่มีการลงทุนกับประชากรวัยเรียนระดับอุดมศึกษาไม่ถึง 2 ล้านคน รวมถึงประชากรวัยทำงานกว่า 35-40 ล้านคน นี่คือเหตุผลว่าทำไมประเทศไทยจึงติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ดังนั้นโจทย์ใหม่ของการศึกษาไทยจะรวมถึงการพัฒนาประชากรวัยทำงานซึ่งถือเป็นพวกน้ำนอกท่อให้ได้ด้วย เพราะปัจจุบันมีแต่การดูแลน้ำในท่อซึ่งก็คือประชากรวัยเรียน โดยการจัดการศึกษาในลักษณะของการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education)

อีกทั้งจะดำเนินการอย่างไรให้ผู้สูงวัยที่ยังสามารถทำงานได้กลายเป็นผู้สูงวัยที่มีประสิทธิภาพ ในการตอบโจทย์ดังกล่าวจะต้องมีการดำเนินความร่วมกับภาคเอกชนและภาคสังคมในระดับพื้นที่ (Area-based approach) ให้มากขึ้น และการจัดการอุดมศึกษาก็จะต้องดำเนินการในระดับพื้นที่ด้วย

ฝากให้คิดเรื่องโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (Mega Projects)

ประเทศในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ แต่ประเทศในทวีปเอเชียเน้นที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ขณะนี้ประเทศไทยจะมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบบริหารน้ำ ระบบจัดการขยะ รถไฟความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และโครงข่ายถนนระหว่างประเทศ เป็นต้น จึงต้องช่วยกันคิดว่าจะหากำลังแรงงานมาจากไหน ต้องมีจำนวนเท่าไหร่จึงจะเพียงพอเพื่อรองรับงานที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน (New Growth Model) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงต้องทำความเข้าใจและต้องมีวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนากำลังแรงงานตามฐานพื้นที่

ย้ำถึงเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)

รมช.ศึกษาธิการ ฝากถึงแนวทางการดำเนินการเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งได้กำหนดให้มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (ICT – High speed internet) ให้ครอบคลุมถึงทุกหมู่บ้านทั่วประเทศภายใน 3 ปี เพื่อเป็นการส่งความรู้ถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย และทำให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิด (Massive Open Online Courses - MOOCs) และการเรียนรู้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Learning) สำหรับประชากรวัยทำงานและผู้สูงวัยซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่

ควรผลักดันประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

นอกจากนี้ ทิศทางการปฏิรูปประเทศของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเน้นเรื่องการกระจายอำนาจลงสู่ฐานพื้นที่จังหวัดและท้องถิ่น ต้องดำเนินการในลักษณะของการจัดกระบวนการเรียนรู้ (Learning Process) และกระบวนการแก้ไขตนเอง (Self-correcting Process) ในการปฏิรูปให้เกิดความสำเร็จ การอุดมศึกษาจะต้องปรับบทบาทใหม่เป็น “ผู้ให้คำปรึกษา” (Consultant) ของพื้นที่ที่มีฐานข้อมูลพร้อม รวมทั้งการสร้างความพร้อมให้กับท้องถิ่น

แนวคิดใหม่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ สปช.ได้กล่าวถึงการผลักดันประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น โครงการ Talent Mobility, STEM Education และการเพิ่มการลงทุนวิจัย เป็นต้น จึงต้องมีการทบทวนการทำงาน ตั้งเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และการลงทุนใหม่

เน้นการเรียนเพื่อการประกอบอาชีพ

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ต้องแสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของการอุดมศึกษาที่มีความสำคัญในการผลิตกำลังคนที่ตรงกับความต้องการของประเทศ

อีกทั้งต้องเปลี่ยนค่านิยมของการเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้รับวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น เป็นการเรียนเพื่อสร้างความพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพ (Employability)เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าวุฒิการศึกษาไม่ได้รับประกันการมีงานทำ

ดังนั้น สิ่งที่ผู้เรียนควรได้จากระบบการศึกษาคือ เป็นผู้ที่มีความพร้อมและความสามารถในการประกอบอาชีพ การอุดมศึกษาจะต้องให้บริการวิชาการเพื่อพัฒนาภาคการผลิตและชุมชน ตลอดจนการวิจัยเพื่อสร้างความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาในทุกด้านได้

เป้าหมายใหม่ของการอุดมศึกษาของไทยในอนาคตคือ การผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ด้วยการใช้หลักสูตรที่มีความหลากหลาย ไม่ใช่หลักสูตร “เสื้อตัวเดียว” หรือ “รองเท้าเบอร์เดียว” อีกต่อไป

จึงต้องช่วยกันคิดและหารือร่วมกับผู้ใช้ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เปิดกว้าง มีการทำวิจัยและการบริการวิชาการที่มองการใช้ประโยชน์และผู้ใช้ประโยชน์ที่ชัดเจน ดำเนินความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเพื่อนำไปสู่การสร้างความสามารถเฉพาะตัวในแต่ละพื้นที่และเป็นฐานการเติบโตในระยะยาว

ยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ในการอุดมศึกษา

สำหรับยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ในการอุดมศึกษา รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการลงทุนตามผลการดำเนินงาน หลักฐานของการมีธรรมาภิบาลและระบบการจัดการที่ดีเป็นหลัก รวมทั้งการลดการพึ่งพาแหล่งรายได้ที่มาจากค่าเล่าเรียน ต้องมีวิธีหารายได้จากที่อื่น เช่น การวิจัยพัฒนานวัตกรรม และการบริการทางวิชาการ เป็นต้น

การบริหารจัดการอุดมศึกษาไทยจะต้องมีการปฏิรูปจากข้างใน โดยมีใจความหลักคือ ความรับผิดชอบทางสังคม ความโปร่งใส และการเปิดรับการตรวจสอบจากสังคมหรือหน่วยงานภายนอก การมีธรรมาภิบาลถือเป็นการปฏิรูปตนเอง (Self-reform) ต้องดำเนินการตั้งแต่ระดับล่างขึ้นมาถึงสภามหาวิทยาลัย และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

การเปลี่ยนแปลงการอุดมศึกษาไทย

การเปลี่ยนแปลงการอุดมศึกษาไทยจะใช้เครื่องมือ 2 ส่วน คือ 1) โครงการพัฒนาการอุดมศึกษา ได้แก่ โครงการศูนย์ความเป็นเลิศระยะที่ 3 ซึ่งเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณรัฐบาลและเงินกู้จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank – ADB) ทุนพัฒนาอาจารย์มหาวิทยาลัย โครงการ World Class University โครงการพัฒนามหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ และการจัดสรรค่าใช้จ่ายต่อหัวเพื่อการผลิตบัณฑิตเฉพาะสำหรับการสร้างบุคลากรในวิชาชีพเฉพาะทาง 2) การปลดล็อกการควบคุม คือ การให้อิสระกับทางสถาบันอุดมศึกษาในการบริหารจัดการในเรื่องที่สามารถดำเนินการเองได้ เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งทางวิชาการ การประกันคุณภาพภายใน (Internal Quality Assessment – IQA) การประกันคุณภาพภายนอก (External Quality Assessment – EQA) และการรับทราบหลักสูตร เป็นต้น

ในการเข้าถึงเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงข้างต้น สถาบันอุดมศึกษาควรจะ

1) มีการจัดทำรายงาน “มหาวิทยาลัยที่ดี” (Good University Report) ที่แสดงถึงการมีธรรมาภิบาลและเผยแพร่ต่อสาธารณะ ในรายงานดังกล่าวจะประกอบด้วย หลักนิติธรรม คุณธรรม ความรับผิดชอบ ความมีส่วนร่วม ความคุ้มค่า และความโปร่งใส

2) การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ในเรื่องของบัณฑิตและการมีงานทำ (Longitudinal Employment Survey) โดยส่วนตัวเชื่อว่า ตัวชี้วัดของการศึกษาที่มีคุณภาพก็คือการมีงานทำ ไม่ใช่ IQA หรือ EQA รวมถึงข้อมูลเรื่องหลักสูตร ผู้เรียน และการบริหารจัดการทรัพยากร ต้องมีการประเมินสภามหาวิทยาลัยโดยผู้ที่มีความทัดเทียมกัน (Peers) นอกเหนือจากการให้สภามหาวิทยาลัยประเมินตนเอง และต้องการเห็นหลักฐานของระบบที่ดีในการคัดสรร พัฒนาอาจารย์ บุคลากรและผู้บริหารด้วย

3) การทำแผนแม่บทการพัฒนา (Roadmap) ซึ่งได้มีการหารือกับกลุ่มรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและนโยบายเพื่อระดมความคิดในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาในเชิงพื้นที่ เชิงกลุ่มคณะ (Sector-Based) และโครงการเฉพาะ (Project-Based) โดยจะดึงมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนเข้ามาร่วมด้วย และต้องมีการวางแผนให้เชื่อมกับอนาคตของประเทศไทย

ย้ำขอให้เปลี่ยนแปลงจากข้างในอุดมศึกษา

บริบทของโลกกำลังเปลี่ยนแปลง การอุดมศึกษาก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามให้ทัน การเปลี่ยนแปลงจะต้องเกิดจากข้างในสถาบันอุดมศึกษา หากไม่เปลี่ยนแปลงจากข้างใน บุคคลภายนอกก็จะเข้ามาเปลี่ยน หากเปลี่ยนแปลงจากข้างนอกชีวิตก็จบสิ้น หากเปลี่ยนแปลงจากข้างในถือว่าชีวิตเริ่มใหม่ ดังคำกล่าวที่ว่า “ไข่ถ้าแตกจากข้างนอก ชีวิตจบ แต่ถ้าไข่แตกจากข้างใน ชีวิตเริ่ม การเปลี่ยนแปลงที่ดีจะต้องเกิดจากข้างใน” (If an egg is broken by an outside force, life ends. If an egg is broken by an inside force, then life begins. Great things happen from the inside.)

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ