นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยกำหนดแนวทางให้กับคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติ และมีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ จึงเน้นย้ำให้รัฐมนตรี ทุกกระทรวง ทบวง กรม ตลอดจนหน่วยงานราชการได้กำชับ ตรวจสอบดูแลหน่วยงานของตนเอง ไม่ว่าในเชิงของการป้องกัน การปราบปราม หรือการปลุกจิตสำนึก เพราะถือว่าส่วนราชการเป็นต้นแบบของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต จะต้องดูแลเรื่องนี้ให้ชัดเจนและรอบคอบ สืบเจตนารมณ์ของรัฐบาลให้ได้
ขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องการเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศว่า กิจกรรมใดที่มีความจำเป็นน้อยก็ปรับลดให้เกิดความเหมาะสม แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีการศึกษาดูงานในต่างประเทศก็ขอให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่จะสามารถเชิญวิทยากรมาบรรยายในประเทศได้หรือไม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง พร้อมทั้งได้ให้ข้อเสนอแนะถึงระดับผู้บริหารที่จะเดินทางโดยเครื่องบินเพื่อไปประชุมในประเทศและต่างประเทศ เช่น อธิบดี ก็ขอให้เดินทางในชั้นประหยัด ส่วนกรณีที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศให้พิจารณาตามความเหมาะสม ขณะที่ระดับรองอธิบดีลงมาก็ให้เดินทางในชั้นประหยัด รวมทั้งได้มอบหมายให้คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ซึ่งมี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เป็นประธานฯ ดำเนินการตรวจสอบองค์กรมหาชนทุกองค์กร เพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการบริหารจัดการเรื่องงบประมาณและขั้นตอนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อนบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและเชื่อถือต่อการดำเนินงานบนพื้นฐานของความโปรงใส
นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงข้อมูลของการประชาสัมพันธ์ โดยได้กำชับคณะรัฐมนตรี และส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์ทุกภาคส่วนว่า รัฐบาลได้มีการปฏิบัติภารกิจและดำเนินงานไปแล้วค่อนข้างมาก แต่การสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่และภูมิภาคยังเป็นไปไม่ครบถ้วน เพราะฉะนั้นทุกส่วนทั้งประชาสัมพันธ์ในส่วนกลางของรัฐบาล หรืองานประชาสัมพันธ์ของกระทรวง ทบวง กรม จะต้องช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการดำเนินงานและภารกิจของรัฐบาล ผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น การเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ หรือเอกสารที่เป็นของรัฐบาล เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ว่าปัญหาในบางเรื่องหรือบางกรณีที่ประชาชนเรียกร้องมานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขมีความคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใดและอยู่ที่ขั้นตอนใด สามารถตรวจสอบได้อย่างไร เป็นต้น
อีกทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ไปพิจารณารายละเอียดในการนำข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินงานต่าง ๆ ของรัฐบาลและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชน เช่น ราคาพืชผลทางการเกษตร ราคาอาหาร ข้าว ผลไม้ เนื้อสัตว์แต่ละชนิด ฯลฯ มาไว้ในแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์ เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนจะได้ช่วยกันดูแลอีกทางหนึ่งหากมีผู้ประกอบการหรือผู้จำหน่ายสิ้นค้ารายใด จำหน่ายสิ้นค้าเกินราคาก็สามารถแจ้งมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาภัยแล้งว่า ขณะนี้รัฐบาลได้มีการจัดลำดับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว เช่น ลำดับความเร่งด่วนที่ 1 ให้ความสำคัญกับน้ำอุปโภคบริโภค ลำดับที่ 2 คือการเก็บกักน้ำไว้สำหรับผลักดันน้ำเค็มในระบบคูคลอง และแม่น้ำต่าง ๆ ลำดับที่ 3 คือ น้ำเพื่อการเกษตร อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า สถานการณ์ภัยแล้งดังกล่าวไม่สามารถที่จะคาดการณ์ในอนาคตได้ ดังนั้นจึงให้เพิ่มมาตรการเรื่องปันส่วนแหล่งน้ำ โดยหน่วยราชการในพื้นที่จะต้องไปจัดลำดับความเร่งด่วนในการพิจารณานำแหล่งน้ำมีอยู่ไปใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น และป้องกันการแย่งแหล่งน้ำในพื้นที่
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงแนวความคิดที่จะให้มีการจัดตั้งชุปเปอร์บอร์ดสำหรับการศึกษาขึ้น เนื่องจากกระทรวงศึกษามีปัญหาการสั่งการในเรื่องของการจัดระบบการศึกษา เพราะฉะนั้นการจัดตั้งชุปเปอร์บอร์ดไปช่วยดูแลเรื่องนี้ก็จะสามารถช่วยให้การจัดระบบและระเบียบการศึกษาเป็นไปในทิศทางที่กำหนดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้ให้แนวทางการกำหนดเป้าหมายความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว ประมาณ 6 – 7 ประการ อาทิ 1) เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (ป.1) ต่อไปนี้เมื่อจบ ป.1 แล้วจะต้องสามารถอ่านออกเขียนได้ และต้องมีมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเพื่อยืนยันว่าจบ ป.1 แล้วอ่านออกเขียนได้จริง 2) นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 (ม.1 – ม.6) จะต้องให้นักเรียนสามารถเลือกเรียนในวิชาเสริมที่เป็นวิชาชีพพร้อมกันไปด้วยตลอดระยะเวลาการเรียนระดับมัธยมศึกษา เพื่อวันข้างหน้านักเรียนจะสามารถวางแผนในอนาคตและเลือกวิชาชีพที่ตนเองชอบได้อย่างแท้จริง แทนการจบการศึกษา ม.6 แล้วจะต้องเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว ตลอดจนสามารถนำความรู้ในเรื่องวิชาชีพดังกล่าวมารองรับกรณีที่เด็กนักเรียนมีปัญหาและความจำเป็นไม่สามารถที่จะเรียนต่อหรืออยู่ในระบบการศึกษาต้องออกมาทำงาน ให้สามารถมีความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพเบื้องต้นได้ 3) การจัดการเรียนการสอนจะต้องมีการเชื่อมโยงระหว่างการศึกษากับการส่งเสริมวิชาชีพให้สอดคล้องและตรงกับความต้องการของตลาดทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ 4) ในระดับอุดมศึกษาให้เน้นการวิจัยเพื่อเชื่อต่อระหว่างงานวิจัยกับภาคอุตสาหกรรมของเอกชน เช่น อาจให้มีการทำข้อตกลงกันระหว่างภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของธุรกิจภาคอุตสาหกรรมกับหน่วยงานอุดมศึกษา เพื่อให้การค้นคว้าวิจัยในการเรียนตอบโจทย์ต่อความต้องการของอุตสาหกรรม
5) การยกระดับความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษ โดยให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษที่มาจากประเทศต้นทาง เช่น ประสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ทั้งนี้อาจให้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากบุคคลที่เป็นประเทศต้นทางดังกล่าว เดือนละครั้งหรือ 2 ครั้ง เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยกับสำเนียงเจ้าของภาษา
6) การผลิตครูจะต้องมีการดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อให้เป็นครูที่มีความรู้ความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชื่อครูพันธุ์ใหม่ เพื่อให้การเรียนการสอนเด็กนักเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ส่วนกรณีที่อาชีพครูขาดแคลนผลิตไม่ทัน และมีบุคคลจบการศึกษาที่ไม่ตรงกับวิชาที่จะต้องสอนก็ขอให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบเฉพาะกิจขึ้น เพื่อปูพื้นฐานสำหรับการไปประกอบอาชีพในด้านครูด้วย
พร้อมทั้ง นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการและให้แนวทางในเรื่องการจัดตลาดนัดข้าว ผลไม้และไม้ดอกที่จะจัดขึ้นวันที่ 5 มีนาคม 2558 บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ว่า การจัดตลาดดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องการให้ทุกจังหวัดและทุกชุมชนได้ไปจัดตลาดนัดในลักษณะเช่นนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจในระดับฐานรากอย่างแท้จริง และเกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ตลอดจนกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย นอกจากนี้ยังต้องการให้มีการเพิ่มการสัญจรทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อแก้ปัญหาการจราจร
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
ที่มา: http://www.thaigov.go.th