รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ที่ผ่านมารับทราบปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ซึ่งพบว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งมีความวิกฤตของปัญหาแตกต่างกัน
ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ มีประเด็นของอธิการบดีและการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย เป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน เลือดไหลออก คือยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ยิ่งกระทบต่อเด็ก และส่งผลให้มหาวิทยาลัยเสียอาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่มีศักยภาพไปเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ทำงานอยู่ก็ไม่มีขวัญกำลังใจ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นกลาง เพื่อไปหาข้อมูลมานำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อมูลอยู่ส่วนหนึ่งแล้วก็ตาม แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไป จึงต้องไปรับฟังข้อมูลเพิ่มเติมจากทั้งสองฝ่าย
ในส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพา เป็นการสรรหาอธิการบดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง จึงจำเป็นต้องรอศาลปกครองก่อน
ในส่วนของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้มีการแต่งตั้งอธิการบดีไปแล้ว หากเป็นไปตามกติกาของสภามหาวิทยาลัย ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง
ต่อข้อคำถามเกี่ยวกับข้อเสนอให้รัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ จัดการแก้ไขในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สิ่งที่กำลังดำเนินการเกี่ยวกับระบบธรรมาภิบาล จะกำหนดไว้ในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติอุดมศึกษาฉบับต่อไปด้วย โดยเฉพาะจุดกึ่งกลางระหว่างการที่ให้มหาวิทยาลัยดูแลจัดการตัวเอง กับการที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถเข้าไปดูแลในกรณีที่เกิดปัญหาได้ โดยจะต้องพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังหารือกับ ดร.สุเมธ แย้มนุ่น อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอาจารย์จากมหาวิทยาลัย เพื่อหามาตรการทางบวกในการขับเคลื่อนระบบธรรมาภิบาล เช่น การให้รางวัล การส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เป็นต้น
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
นวรัตน์ รามสูต
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
ที่มา: http://www.thaigov.go.th