สำหรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ คือ การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางที่ระเบียบกำหนด การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและแผนระดับชาติดังกล่าว การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งประสานความร่วมมือกับคณะกรรมการระดับชาติต่างๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายอื่น การให้ข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม การเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการบูรณาการการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการพิจารณาอนุมัติโครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานของรัฐและเอกชนในกิจการของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานเพื่อช่วยในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ โดยมีสำนักงานปลัดกระทรวงไอซีทีทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ
การจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องครอบคลุมถึงแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์สูงสุดอันจะก่อให้เกิดการประหยัดทรัพยากรของชาติ การกำหนดแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพของประเทศที่ครอบคลุมถึงโครงข่ายการติดต่อสื่อสารทุกประเภทที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนประโยชน์ของประชาชนและสาธารณะเป็นสำคัญ นอกจากนี้จะดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังคน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม การสร้างความตระหนักและรู้เท่าทันสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ อย่างทั่วถึง และเกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
“เมื่อระเบียบฯ ฉบับนี้ ได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กระทรวงไอซีทีจะใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy ไปจนกว่าร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. .... จะมีผลใช้บังคับ” นายพรชัยฯ กล่าว
ที่มา: http://www.thaigov.go.th