พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวให้การต้อนรับในการเปิดประชุมไตรภาคีระหว่างประเทศเกี่ยวกับโครงการสนับสนุนกิจกรรมระดับรากหญ้า สำหรับผู้ใช้แรงงานนอกระบบที่ด้อยโอกาส โดยผ่านเครือข่ายองค์กรนายจ้างและองค์กรลูกจ้างสากล (SGRA) เพื่อหารือและแลกเปลี่ยนผลสำเร็จของการดำเนินงานในประเทศไทย เนปาลและบังกลาเทศ ณ โรงแรมอีสติน มักกะสัน ว่า มูลนิธิแรงงานสากลแห่งประเทศญี่ปุ่น (JILAF) ซึ่งได้เสียสละกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์มาดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานนอกระบบทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาค รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องซึ่งเข้ามาเชื่อมร้อยเจตนารมณ์พร้อมดำเนินการให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานนอกระบบของประเทศไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียหลายประเทศกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ท่ามกลางความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ภาวะความยากจนของประชาชนในประเทศกลับขยายตัวตามไปด้วย เกิดเป็นช่องว่างด้านรายได้ สิทธิการเข้าถึงบริการของรัฐหรือการได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายในการทำงานของประชาชนระดับรากหญ้ายังคงมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐบาลในทุกประเทศย่อมเล็งเห็นความจำเป็นที่ต้องยื่นมือเข้าไปให้ความช่วยเหลือประชาชนกลุ่มดังกล่าวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเพื่อป้องกันปัญหาสังคมที่อาจจะตามมาในอีกหลายมิติ สำหรับประเทศไทยได้เล็งเห็นและให้ความสำคัญต่อประชาชนคนทำงานในทุกกลุ่มอาชีพ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม ส่งผลให้ประสบปัญหาในการทำงาน ขาดความมั่นคงในการทำงาน ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขาดโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือ ขาดความปลอดภัยในการทำงาน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้รับรู้ถึงสภาพปัญหาดังกล่าวมาโดยตลอด จึงได้กำหนดนโยบายและการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบ ทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนโยบายด้านแรงงานที่สำคัญของรัฐบาลอีกด้วย ส่วนด้านการปฏิบัตินั้น กระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบปี 2555- 2559 พร้อมกับจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาแรงงานนอกระบบปี 2555-2559
เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวและเพื่อให้แผนปฏิบัติการมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม จึงได้ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบแห่งชาติขึ้นมา โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ปัญหาของแรงงานนอกระบบได้รับการแก้ไขและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้อย่างแท้จริง
Mr.Akira Isawa ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการของญี่ปุ่น กล่าวว่า กระทรวงแรงงานของไทยทำให้โครงการนี้เดินหน้าไปได้ด้วยดี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างประเทศเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นรูปแบบของภาพรวม อีกรูปแบบหนึ่งเป็นการปฏิบัติการระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นความร่วมมือของรัฐบาลในเรื่องการยกระดับการพัฒนาฝีมือแรงงาน การฝึกอบรม การสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ส่วนการเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปี 2015 ที่จะเกิดขึ้นนั้น หวังว่าอาเซียนจะมีความเติบโตของเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ ซึ่งคนบางกลุ่มเขาอาจจะไม่ได้รับประโยชน์เนื่องจากเขาด้วยโอกาส ดังนั้นเราจึงควรทำกิจกรรมกับกลุ่มคนระดับรากหญ้าให้มากขึ้น
ด้านคุณศิริวรรณ ร่มฉัตรทอง ผู้แทนนายจ้างในประเทศไทย กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเพื่อเชื่อมโยงระบบการทำงานเพื่อดูแลแรงงานนอกระบบ อาทิ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเสริมสร้างทักษะให้แรงงานนอกระบบ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะให้ความรู้เรื่องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กรมการจัดหางานจะจัดหางานให้เพื่อนำแรงงานนอกระบบเข้าสู่แรงงานในระบบ และสำนักงานประกันสังคมจะให้ความรู้เรื่องสิทธิที่จะได้รับการประกันในกรณีต่างๆ เป็นต้น
กลุ่มงานเผยแพร่ประชาสัมพันธ์
"กระทรวงแรงงาน บริการด้วยใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ"
ที่มา: http://www.thaigov.go.th