สคร. จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 4/2558

ข่าวทั่วไป Tuesday March 3, 2015 14:05 —สำนักโฆษก

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 4/2558โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)เป็นเลขานุการ คนร. ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558

โดยผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ครั้งที่ 4/2558 มีดังนี้

1. แผนยุทธศาสตร์กำหนดทิศทางรัฐวิสาหกิจ

คนร. ได้เห็นชอบแนวทางการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของรัฐวิสาหกิจในสาขาพลังงานและขนส่ง โดยให้มุ่งเน้นการสร้างความสมบูรณ์ของโครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งจะช่วยสนับสนุน ให้เอกชนสามารถเข้าร่วมเป็นผู้ประกอบการเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในแต่ละสาขาได้อย่างเท่าเทียม และการดำเนินการอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยสำหรับภาคอุตสาหกรรมขนส่ง เห็นควรให้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ด้านการบินของประเทศ สร้างความชัดเจนในการกำกับดูแลระบบรางของประเทศ โดยการจัดตั้งกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง และให้เตรียมการแยกบทบาทและภารกิจของกรมการขนส่งทางบก ระหว่าง บริษัท ขนส่ง จำกัด และ ขสมก. ออกจากกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน เห็นควรให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแนวทางการจัดให้มีการรวมศูนย์ของ Policy-maker ด้านพลังงาน เพื่อให้เกิดการบูรณาการของหน่วยงานด้านพลังงานอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ให้ศึกษาระบบการให้เงินอุดหนุนรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินงานเชิงสังคมโดยให้อุดหนุนโดยตรงไปที่ภาคประชาชน

2. รูปแบบการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจภาพรวมของประเทศ

คนร. ได้เห็นชอบในหลักการแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คล้ายเจ้าของรัฐวิสาหกิจในลักษณะรวมศูนย์ โดยแบ่งองค์กรเจ้าของรัฐวิสาหกิจเป็น 2 หน่วยงาน คือ 1) บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ 2) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) โดยในระยะแรกให้บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติทำหน้าที่เป็นองค์กรเจ้าของสำหรับรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และที่เป็นบริษัท(มหาชน) และบริษัทจำกัด ส่วน สคร. ทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยกฎหมายจัดตั้ง พร้อมทั้งมอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมาย โดยจะประกอบด้วยส่วนสำคัญ คือ ส่วนที่ 1 การกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ในภาพรวมที่เกี่ยวกับการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอนคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ การจัดทำระบบบรรษัทภิบาลในรัฐวิสาหกิจ การติดตามประเมินผลคณะกรรมการและองค์กร การตรวจสอบและการเปิดเผยข้อมูล ส่วนที่ 2 จะเป็นการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่เป็นแนวทางการสรรหาคณะกรรมการบรรษัทฯ และกรรมการผู้จัดการบรรษัทฯ รวมถึง อำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการทำงานของบรรษัทฯ

3. การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา

1) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

คนร. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการแยกบทบาทโดยให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ทำหน้าที่กำกับดูแล (Regulator) โดยให้จัดทำรายละเอียดการดำเนินการที่จำเป็นในการโอนบทบาทให้ ขบ. เป็นผู้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการเดินรถทั้งหมดโดยตรง เพื่อเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงคมนาคมเร่งการปฏิรูปเส้นทางเดินรถ รวมถึงกำหนดเส้นทางที่ต้องการให้ ขสมก. เดินรถด้วย เพื่อให้ ขสมก. ใช้ประโยชน์ทรัพยากรที่มีอยู่ได้สูงสุด และกำกับดูแลการซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติ (NGV) ให้เป็นไปตามแผน พร้อมทั้งประเมินผลการดำเนินการของรถโดยสาร NGV งวดที่ ๑ เพื่อวางแผนในการดำเนินการต่อไป

2) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

คนร. เห็นชอบในหลักการให้ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท. ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการใช้ประโยชน์จากเสาโทรคมนาคม โดยเจรจายุติข้อพิพาทกับคู่สัญญาเอกชน โดยมุ่งเน้นให้การดำเนินการต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศ การตีมูลค่าทรัพย์สินต้องเป็นธรรมกับภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ให้กระทรวง ICT ศึกษารูปแบบการจัดตั้งบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเสาโทรคมนาคมดังกล่าวต่อไป

4. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi Stakeholder Group) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST)

คนร. ได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างภาครัฐ (Multi Stakeholder Group : MSG) สำหรับโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) เพื่อทำหน้าที่กำหนดแนวปฏิบัติและเปิดเผยข้อมูลและกลไกอื่นในการเสริมสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐวิสาหกิจ ซึ่งดำเนินการตามบรรทัดฐานขององค์กร CoST โดยคณะอนุกรรมการฯ มีปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน มีผู้แทน สศช. กรมบัญชีกลาง องค์กรภาคเอกชน เช่น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการ และ สคร. เป็นฝ่ายเลขานุการ

5. การขอปรับเพิ่มเงินลงทุน (Cost Overrun) โครงการพัฒนาระบบสายส่งและสถานีไฟฟ้า ระยะที่ ๘ ส่วนที่ ๑ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

คนร. ได้เห็นชอบการขอปรับเพิ่มเงินลงทุน (Cost Overrun) โครงการพัฒนาระบบสายส่งฯ ของ กฟภ. วงเงินจำนวน 2,878 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้รองรับต่อ ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย และให้ประชาชนได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง โดยให้ใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 2,158 ล้านบาท และเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 720 ล้านบาท และให้ กฟภ. กู้เงินในประเทศภายในกรอบวงเงิน 2,158 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนโครงการ โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ

ที่มา : กระทรวงการคลัง

ผู้นำเสนอ : กลุ่มสารนิเทศการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ