ความก้าวหน้า 2 นโยบายการอาชีวศึกษา : การเรียนการสอนสายสามัญควบคู่สายอาชีพ - อาชีวะจิตอาสา

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 2015 15:18 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2558 ถึงความก้าวหน้านโยบายการอาชีวศึกษา ในการจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานกับสายอาชีพ และการขยายโครงการอาชีวะจิตอาสา

การจัดการเรียนการสอนสายสามัญคู่ขนานกับสายอาชีพ*

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปีการศึกษา 2558 ได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าจะมีกิจกรรมระดับผู้บริหาร ระดับเขต/อาชีวศึกษาจังหวัด และสถานศึกษา เพื่อกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนในแต่ละจังหวัดและสถานศึกษา โดยจะนับจำนวนสถิติผู้เรียนอาชีวศึกษาทุกสังกัด ซึ่งตรงกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการปรับเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาและสามัญศึกษาเป็น 50 : 50 และสอดคล้องกับพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กในโรงเรียนขยายโอกาส โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ ได้มีการประกอบอาชีพที่ชัดเจน

สำหรับหลักการในการดำเนินงาน มีดังนี้

  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายสายสามัญ เรียนสายอาชีพคู่ขนาน
  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เรียนสายวิชาชีพสะสมหน่วยกิต
  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ประสงค์จะไปศึกษาต่อ ให้เรียนสายวิชาชีพเพิ่มเติมก่อนจบการศึกษา และเรียนระยะสั้นสะสมหน่วยกิตต่อเนื่องและประกอบอาชีพ

โดยได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายโรงเรียนของ สพฐ. จำนวน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) โรงเรียนขยายโอกาส 2) โรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ 3) โรงเรียนพื้นที่พิเศษ/พื้นที่ชายแดน และ 4) โรงเรียนโครงการพระราชดำริ

รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการซึ่งมี 2 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1) ผู้เรียนที่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นสายอาชีพ (ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ – ปวช.) ต้องไปลงทะเบียนเป็นผู้เรียนในสถานศึกษา สังกัด สอศ. อีกอย่างน้อย 1 ภาคเรียน และต้องเรียนจนครบตามโครงสร้างหลักสูตร ปวช. จึงจะได้วุฒิ ปวช. อีก 1 วุฒิ และแนวทางที่ 2) ผู้เรียนที่จบหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายที่เน้นสายอาชีพ (ตามหลักสูตร ปวช.) สามารถไปเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) โดยไม่ต้องเรียนปรับพื้นฐาน แต่ไม่ได้รับวุฒิ ปวช.

ขั้นตอนการดำเนินงาน

1. สถานศึกษา สังกัด สพฐ. (โรงเรียนขยายโอกาส) สำรวจความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน ที่ประสงค์จะศึกษาต่อในระดับ ปวช.

2. สถานศึกษา สังกัด สพฐ. ประสานงานกับสถานศึกษา สังกัด สอศ.ที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเปิด ปวช.

3. ผู้เรียนลงทะเบียนเป็นนักเรียนสถานศึกษา สังกัด สอศ.

4. สถานศึกษา สังกัด สพฐ.และ สอศ.แจ้งหน่วยงานต้นสังกัดทราบ เพื่อจัดทำประวัติและข้อมูลนักเรียน

5. สถานศึกษา สังกัด สพฐ.และสถานศึกษาสังกัด สอศ.ที่อยู่ใกล้เคียง ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการวางแผนและจัดการเรียนการสอนตลอดหลักสูตร โดยอาจกำหนดรายละเอียด ดังนี้

  • ค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอน ให้สถานศึกษาทั้ง 2 แห่งเห็นชอบร่วมกัน โดยสถานศึกษาสังกัด สพฐ.เป็นผู้กำหนดค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อาคาร สถานที่ และวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
  • จำนวนผู้เรียนต่อห้องให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่ สอศ.กำหนด
  • เครื่องแบบผู้เรียนให้อยู่ในดุลยพินิจของสถานศึกษาทั้ง 2 แห่ง

6. สถานศึกษารายงานผลการดำเนินการงานการจัดการศึกษาให้หน่วยงานต้นสังกัดและผู้ที่เกี่ยวข้องทราบ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมว่า สอศ.ได้รายงานข้อมูลเบื้องต้นถึงจำนวนนักเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการคู่ขนานว่า จะมีนักเรียนโรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. จำนวนประมาณ 30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 450,000 คน จากโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 7,068 แห่ง สำหรับค่าบริหารจัดการต่อหัว ซึ่งคำนวณจากจำนวน 40 คน/ห้องเรียน ประมาณ 2,000 บาท/คน/ปี โดยมีประมาณการงบประมาณอุดหนุนรายหัวตามประเภทวิชาต่างๆ สำหรับนักเรียนคู่ขนานใน 9 ประเภทวิชา ได้แก่ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม/บริหารธุรกิจ คหกรรม ศิลปกรรม เกษตร (ปฏิรูป) เกษตรกรรม ประมง อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมสิ่งทอ รวมทั้งสิ้นประมาณ 137,005,000 บาท

การขยายโครงการอาชีวะจิตอาสา ตามโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เยี่ยมชมนิทรรศการเกี่ยวกับโครงการ "ปณิธานความดีปีมหามงคล" ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้นำโครงการอาชีวะจิตอาสา ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix It Center) มาจัดแสดง และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ ดร. ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาชีวศึกษา ขยายโครงการอาชีวะจิตอาสา โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อสร้างจิตอาสาแก่ผู้เรียนอาชีวะ รวมทั้งจะเป็นส่วนสำคัญช่วยลดเหตุทะเลาะเบาะแว้งระหว่างนักศึกษาด้วย

สอศ.จึงได้ดำเนินการจัดโครงการอาชีวะจิตอาสา โดยได้จัดศูนย์ Fix It Center ในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 50 ศูนย์ ซึ่งแต่ละศูนย์จะมีนักศึกษาอาชีวะมาให้บริการ 3 ด้าน คือ การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องรถจักรยานยนต์ การซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และการแนะแนวการศึกษาสายวิชาชีพเพื่อการมีงานทำที่ยั่งยืน โดยเปิดให้บริการแก่ประชาชนเข้าไปใช้บริการได้ฟรี ที่ศูนย์ใดก็ได้ ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2558 ตั้งแต่เวลา 8.30-16.30 น.

ทั้งนี้ ในช่วงเช้าวันอังคารที่ 3 มีนาคม 2558 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามการดำเนินงานของโครงการอาชีวะจิตอาสา ตามโครงการปณิธานความดีปีมหามงคล ซึ่งนำมาจัดแสดงภายในทำเนียบรัฐบาล และได้ทดลองขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ซ่อมแซมเสร็จแล้ว

นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน รมว.ศึกษาธิการ ได้ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ Fix It Center บริเวณภายในวัดสุนทรธรรมทาน (วัดแค นางเลิ้ง) ซึ่ง สอศ. โดยวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร ร่วมกับสำนักงานเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย วัดสุนทรธรรมทาน สภาวัฒนธรรมเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เปิดให้บริการ โดยในวันแรกที่เปิดให้บริการ พบว่าศูนย์แห่งนี้มีประชาชนทยอยนำเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น วิทยุ พัดลม เครื่องเสียง รถจักรยานยนต์ ฯลฯ มาให้บริการซ่อมแซมจำนวนมาก ส่วนสตรีและเยาวชนที่มีความสนใจด้านงานประดิษฐ์ ก็ได้เข้ารับความรู้และร่วมฝึกงานประดิษฐ์ เช่น ร้อยหินมงคล ร้อยพวงมาลัยดอกไม้ การทำขนมไทย เป็นต้น

ขอบคุณ : ภาพจากไทยรัฐออนไลน์

นวรัตน์ รามสูต - บัลลังก์ โรหิตเสถียร

นงศิลินี โมสิกะ*

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ