สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ โชว์ศักยภาพแสดงผลงานวิจัยถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่น กว่า 30 ผลงาน

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 15:46 —สำนักโฆษก

สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ โชว์ศักยภาพแสดงผลงานวิจัยถ่ายทอดสู่ชุมชนท้องถิ่น กว่า 30 ผลงาน อาทิ เทรนด์เทคโนโลยีลดการเผา นวัตกรรมอาหารท้องถิ่น S&T การจัดการฟาร์ม และเทคโนโลยีสมองกล ระบบอัตโนมัติ ฯลฯ พร้อมร่วมระดมความคิดกำหนดแนวทางการเชื่อมโยงสนับสนุนในหลากหลายมิติเพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืน

27 กุมภาพันธ์ 2558 ณ โรงแรมเชียงใหม่ แกรนด์วิว : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ จัดงานประชุมวิชาการงานประชุมประจำปี 2558 ภายใต้หัวข้อการจัดงาน “From Friends To Family สานสัมพันธ์ร่วมสร้างสรรค์สังคมวิทยาศาสตร์” โดยภายในงานจัดให้การนำเสนอนิทรรศการผลงานการวิจัยและโครงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่หน่วยงานให้การสนับสนุน ผ่านกิจกรรมการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไปสู่ชุมชนและภาคเอกชนในภาคเหนือ อีกทั้งยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการวิจัยพัฒนา การแก้ไขปัญหาท้องถิ่นภาคเหนือของนักวิจัย รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและวิสาหกิจชุมชน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวและเพิ่มความสามารถการแข่งขันของธุรกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาความเข้มแข็งทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทยให้มีการประยุกต์ใช้งานวิจัยในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เป็นต้น

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี กล่าวว่า สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ มีบทบาทที่สำคัญในการส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนให้การสนับสนุนชุมชนและภาคเอกชน โดยเน้นการศึกษาวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมในท้องถิ่นภาคเหนือ พร้อมทั้งเผยแพร่ความรู้สู่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชนในท้องถิ่นภาคเหนือได้อย่างทั่วถึง ต่อเนื่อง และยั่งยืน ภายใต้แนวปรัชญาการดำเนินงานของ สวทช. ภาคเหนือ คือ “รวมพลังในท้องถิ่น ใช้ทรัพยากรท้องถิ่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่น ตามความต้องการของท้องถิ่น” ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมานั้น สวทช. เครือข่ายภาคเหนือทำหน้าที่เชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกับการสร้างผลงานวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจนสามารถถ่ายทอดไปสู่การใช้ประโยชน์ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชน ส่งเสริมด้านการพัฒนากำลังคนผ่านโครงการค่ายวิทยาศาสตร์ และยังเป็นศูนย์กลางความรู้และนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน ระหว่างสถาบันวิจัยของรัฐ มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาคเอกชน อันจะนำไปสู่การพัฒนาความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรมและภาคชุมชนในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเพิ่มคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา สวทช. เครือข่ายภาคเหนือ สนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาและวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นเป็นจำนวนมากกว่า 23 โครงการ มีการเชื่อมโยงทุนวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นสู่การต่อยอดเพื่อรับทุนวิจัยจากแหล่งทุนขนาดใหญ่ ในระดับชาติทั้งภายในและภายนอก สวทช. มากกว่า 4 โครงการ มีกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีภาคชุมชนผ่านกิจกรรมอบรมสัมมนาและการอบรมเชิงปฏิบัติการมากกว่า 51 ครั้ง มีกิจกรรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีภาคอุตสาหกรรม ผ่านโครงการ iTAP จำนวนรวม 42 โครงการ นอกเหนือจากนั้นยังมีกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนผ่านกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์มากกว่า 8 ค่าย สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมรวมถึงการมีบทบาทสำคัญในการร่วมพัฒนาท้องถิ่นภาคเหนือได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีแผนการรองรับการขยายผลการดำเนินงานให้ครอบคลุมพื้นที่และขอบเขตในวงกว้างมากขึ้น โดยปรับกลไกการส่งมอบใหม่ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย ผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่มีมากขึ้น อาทิ การร่วมทุนเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยกับภาคสถาบันการศึกษาเพื่อขยายขอบเขตงานวิจัยในประเด็นที่เป็นความสนใจ ผ่านกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีมุ่งเป้าหมายหวังผลและการมีส่วนร่วมกับภาคชุมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างวิทยากรชุมชนมืออาชีพ และการขยายบริการภาคอุตสาหกรรมให้ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่คุณค่า ทั้งในด้านเงินทุน ในการพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งสิทธิประโยชน์ในด้านภาษี ด้วยบริการของ สวทช. เองอีกด้วย

ส่วนนิทรรศการของผลงานการวิจัยและพัฒนา และการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ได้นำมาจัดแสดงแบ่งเป็น 6 หัวข้อด้วยกันคือ

1. Farm: กลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับการจัดการฟาร์ม ประกอบด้วย จุลินทรีย์บำบัดกลิ่นเหม็นในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ จุลินทรีย์ย่อยสารเคมีตกค้างในนาข้าว เทคโนโลยีฟาร์มสัตว์น้ำ นวัตกรรมยางพาราภาคเหนือ และนวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ

2. Food: นวัตกรรมอาหารในภาคเหนือ ประกอบด้วย ซุปถั่วเน่าก้อน โคขุนดอกคำใต้ ข้าวพอง หน่อไม้อบแห้ง โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (NAPIA)

3. Feed: อาหารสัตว์ต้นทุนต่ำจากเศษวัสดุในท้องถิ่น ประกอบด้วย อาหารโค อาหารโปรตีนชนิดใหม่สำหรับเลี้ยงสัตว์ อาหารไก่และอาหารปลา

4. Fuel: การใช้พลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับชุมชน ประกอบด้วย เชื้อเพลิงอัดแท่งจากต้นข้าวโพด ระบบแก๊สซิไฟเออร์ทดแทน LPG สำหรับชุมชน เตาชีวมวลกรุห้องเผาประสิทธิภาพสูง หม้อไอน้ำแรงดันต่ำสำหรับฆ่าเชื้อในโรงเรือนเพาะเห็ด

5. Feel: การเชื่อมโยงศิลปวัฒนธรรมกับเทคโนโลยี ประกอบด้วย การสร้างข้อมูลวัฒนธรรมท้องถิ่น (e-culture) โครงการล้านนาคอลเล็คชั่น

6. Folk: ภูมิปัญญาชาวบ้านเพื่อการพัฒนา

ลัญจนา นิตยพัฒน์ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พหลโยธิน คลองหนึ่ง คลองหลวง ปทุมธานี

โทร. 02-564-7000 ต่อ 1162

เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ

กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834

e-mail : pr@most.go.th

Facebook : sciencethailand

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ