รมว.ศธ. ให้การต้อนรับ รมว.ศึกษาธิการฯ ของเวียดนาม

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 15:56 —สำนักโฆษก

พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายแพทย์ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับศาสตราจารย์ ดร. ฟาม วู ลุน (H.E. Prof. Dr. Pham Vu Luan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะประธานสภารัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สภาซีเมค) เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มีนาคม 2558

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต้อนรับ ศาสตราจารย์ ดร. ฟาม วู ลุน ที่เดินทางเยือนประเทศไทย ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีในการเยี่ยมชมศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย พร้อมทั้งพบปะหารือกับผู้เกี่ยวข้องด้านการศึกษาของไทย

ในปี พ.ศ.2558 องค์การซีมีโอจะครบรอบ 50 ปี เชื่อว่าจะมีการดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษาสำหรับประเทศสมาชิกมากขึ้น ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค เห็นว่าได้มีการดำเนินกิจกรรมมากมาย บางกิจกรรมจะยังไม่สิ้นสุด แต่ในฐานะที่จะเป็นผู้รับช่วงต่อการดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ขอยืนยันว่าจะสืบสานและดำรงความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกให้ดำเนินต่อไป

ปัจจุบัน ประเทศไทยประสบปัญหาด้านการศึกษาหลายเรื่อง เช่น ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา เนื่องจากมีโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล พื้นที่สูง และพื้นที่ทุรกันดารหลายแห่ง ทำให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกับนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่

ปัญหาครูไปทำงานในพื้นที่ห่างไกลและสอนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพเพราะมีภาระงานอื่นที่ต้องรับผิดชอบด้วย การขาดแคลนครูในบางกลุ่มสาระวิชา โดยเฉพาะในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล ทำให้เด็กได้รับการศึกษาแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

จึงได้นำโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมาขยายผลเพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น โดยใช้ต้นแบบการเรียนการสอนจากโรงเรียนวังไกลกังวล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจะนำไปใช้ในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและพื้นที่ทุรกันดาร

ถึงแม้ว่าเด็กจะสามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางดังกล่าวได้ แต่ก็ต้องมีครูปลายทางคอยดูแลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับบทเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ ขณะนี้อยู่ในช่วงประเมินผลการดำเนินงานว่าได้จะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการหรือไม่

กระทรวงศึกษาธิการไทยอยู่ระหว่างการปฏิรูปการศึกษา จากการวัดและประเมินผลการศึกษาที่ผ่านมา พบว่านักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการ จึงต้องมีการปรับการเรียนการสอน ครู และหลักสูตรในทุกระดับ ทั้งการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา หากได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกซีมีโอ จะสามารถปรับปรุงและปฏิรูปการศึกษาได้ เมื่อได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ก็จะรวบรวมกิจกรรม สานต่อกิจกรรมที่มีอยู่ และเพิ่มเติมกิจกรรมใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนาการศึกษาของประเทศสมาชิกให้ดียิ่งขึ้นต่อไป โดยเฉพาะการศึกษาทวิภาคีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการของไทยกับเวียดนาม หากมีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้น จะทำให้การศึกษาของทั้งสองประเทศสามารถเทียบเคียงได้กับประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าด้านการศึกษา

สำหรับโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน นักศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทั้งสองประเทศ ด้วยคุณภาพของชาวเวียดนามที่มีความกระตือรือร้น มีความใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ขยันขันแข็ง ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการศึกษา นำมาเป็นแบบอย่างและเป็นตัวอย่างที่ดีในการพัฒนาการศึกษาและเศรษฐกิจต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร. ฟาม วู ลุน กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้มาเยือนประเทศไทยและกระทรวงศึกษาธิการซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมศูนย์ระดับภูมิภาคขององค์การซีมีโอ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาของซีมีโอ (ไรเฮด) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยเวชศาสตร์เขตร้อนและสาธารณสุขของซีมีโอ (ทรอปเมด) และศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ของซีมีโอ (สปาฟา)

ศูนย์ซีมีโอไรเฮด และศูนย์ซีมีโอทรอปเมด จัดเป็นหน่วยงานชั้นนำที่มีการประสานความร่วมมือกับองค์การซีมีโอในต่างประเทศ มีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ สำหรับศูนย์ซีมีโอสปาฟามีความโดดเด่นด้านการดำเนินงาน และมีนักวิจัยจากเวียดนามปฏิบัติงานอยู่ที่ศูนย์ดังกล่าวด้วย อีกทั้งได้รับทราบว่าเจ้าหน้าที่และพนักงานได้รับการดูแลและความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกระทรวงศึกษาธิการไทย

ในนามผู้แทนองค์การซีมีโอ จึงขอขอบคุณกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาลไทย ที่ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือการดำเนินงานของหน่วยงานทั้งหลายเป็นอย่างดี

ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2558 จะมีการเปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาซีเมค ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการไทยจะเข้ารับตำแหน่งต่อ ประเทศสมาชิกพยายามหาแนวทางปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกัน มีแลกเปลี่ยนข้อมูล การหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้ผู้เรียนมีศักยภาพเท่าเทียมกัน และพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนภายในปี 2558

นอกจากนี้ รัฐมนตรีศึกษาของประเทศสมาชิก 11 ประเทศได้มีข้อหารือในประเด็นภาพรวมการศึกษาในอนาคตที่เน้นการพัฒนาการอุดมศึกษา การเคลื่อนย้ายนักเรียนและนักศึกษาในภูมิภาคให้มีความสะดวกยิ่งขึ้น การจัดทำกรอบคุณภาพของผู้เรียนร่วมกัน การสนับสนุนการรับรองคุณวุฒิ การแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอาชีวศึกษา และการอุดมศึกษา การศึกษาในสภาวะฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ การพัฒนาคุณภาพครู และการศึกษาเพื่อคนด้อยโอกาส ซึ่งต้องการให้มีการสนับสนุนเรื่องดังกล่าวต่อไป เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม

ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามมีความแน่นแฟ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนครู นักเรียนนักศึกษาระหว่างกัน ชาวเวียดนามที่จบการศึกษาในประเทศไทยแล้วกลับไปทำงานที่เวียดนามนับเป็นผู้ที่มีคุณภาพ สามารถปฏิบัติงานได้จริง แต่ความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทยกับเวียดนามยังถือว่าเป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้า จึงมีความยินดีที่จะส่งนักศึกษาเวียดนามมาศึกษาต่อในประเทศไทยให้มากขึ้น และในสาขาที่หลายหลายขึ้นด้วย สถาบันอุดมศึกษาของเวียดนามพร้อมจะรับนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติ ทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยจัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส มีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เป็นผู้สอน อีกทั้งเวียดนามมีความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ซึ่งเวียดนามมีความโดดเด่นและเชี่ยวชาญ

สุดท้ายนี้ หวังว่าการทำงานภายใต้กรอบขององค์การซีมีโอที่จะให้ความร่วมมือด้านการศึกษามีความชัดเจน ลึกซึ้ง มีประสิทธิภาพ และเกิดผลสำเร็จมากขึ้น โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ฟาม วู ลุน ได้กล่าวเชิญ รมว.ศึกษาธิการ เดินทางไปเยือนเวียดนามและเยี่ยมชมกระทรวงศึกษาธิการฯ เวียดนามด้วย ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการได้ตอบรับด้วยความยินดี

ภาพ สถาพร ถาวรสุข

กุณฑิกา พัชรชานนท์

บัลลังก์ โรหิตเสถียร

สรุป/รายงาน

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ