สืบเนื่องจากไทยและจีนต่างเล็งเห็นความสำคัญของความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งมั่นร่วมกันจะพัฒนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสองประเทศ ตามเป้ามายของกรอบความร่วมมือหุ้นส่วนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน (Science and Technology Partnership Program-STEP) และความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย-จีน โดย รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยถึงที่มาความร่วมมือดังกล่าวว่า“เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๗ ณ กรุงปักกิ่ง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรรมการร่วม ครั้งที่ 1 ถือเป็นที่มาของการให้คำมั่นร่วมกันในการผลักดันการดำเนินงานใน 4 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน (Thailand-China Joint Research Center) (2) โครงการศูนย์ให้บริการข้อมูลการสำรวจดาวเทียมระยะไกล (Remote Sensing Satellite Data Service Platform) (3) โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center-TCTTC) และ (4) โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (Talented Young Scientist Visiting Program-TYSP) และการกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วม ครั้งที่ 2 ณ ประเทศไทยครั้งนี้จะเป็นเวทีสำคัญในการทบทวนความก้าวหน้าของการดำเนินงานที่ผ่านมา และการสนับสนุนความพยายามร่วมกันในการผลักดัน/กิจกรรมที่ดำเนินการอยู่ ตลอดจนประเด็นความร่วมมือใหม่ ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างสองประเทศให้เจริญก้าวหน้าและยั่งยืนอีกครั้งหนึ่ง
การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 2 นี้ ได้ต่อยอดและผลักดันความร่วมมือให้ก้าวหน้าทั้ง 4 โครงการ ดังนี้
1) โครงการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ (Talented Young Scientist Visiting Program-TYSP) ที่ผ่านมาฝ่ายจีนให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยของไทย ในการเดินทางไปทำวิจัย ณ มหาวิทยาลัยเป่ยจิง เจียงทง ดังนั้น ในปี 2558 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ของไทย จะให้การสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์/นักวิจัยจากประเทศจีน ในการเดินทางมาปฏิบัติงาน/ทำวิจัย จะเป็นก้าวสำคัญในการสานต่อความร่วมมือด้านการแลกเปลี่ยนบุคคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศ ตลอดจนวางแผน ปี 2559 โดยคาดหวังให้คณะทำงานฝ่ายจีนสนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์ร่วมกันในสาขาดาราศาสตร์ ฝ่ายไทยจะส่งนักวิทยาศาสตร์ไปทำร่วมทำวิจัยในประเทศจีนจำนวน 10 คน ในสาขารถไฟความเร็วสูง การสำรวจระยะไกล นโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การถ่ายทอดเทคโนโลยี พลังงานทดแทน ฯลฯ โดยฝ่ายจีนจะส่งนักวิทยาศาสตร์มาร่วมทำวิจัยจำนวน 2-4 คน และเสนอให้ฝ่ายไทยส่งผู้แทนไปเข้าร่วมการฝึกอบรมที่จีนในสาขาที่สนใจ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน ทั้งนี้ทางจีนยังได้เสนอให้ไทยเข้าร่วมงาน การแลกเปลี่ยนนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ อาเซียน +3 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และทางประเทศไทยจะส่งผู้แทนไปยังหน่วยงานที่จะรับนักวิทยาศาสตร์ไทยไปทำงาน เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความเข้าใจให้แก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการ
2) โครงการศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (Thailand-China Technology Transfer Center-TCTTC) ไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี เห็นได้จากการนำผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมการประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation และร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ในงาน China-ASEAN Expo ต่อเนื่องติดต่อกัน 2 ปี โดยมีกิจกรรมที่สะท้อนความสำเร็จที่ผ่านมาและความร่วมมือในอนาคต ได้แก่การเปิดสำนักงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน โดยคณะทำงานฝ่ายไทยได้จัดเตรียมพื้นที่รองรับ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ประกอบกับปี พ.ศ.2558 เป็นปีแห่งความสิริมงคล ครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่าย จึงได้กำหนดกิจกรรมความร่วมมือ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวาระพิเศษนี้ จำนวน 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) พิธีเปิดสำนักงานของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน (2) การจัดค่ายเยาวชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย-จีน ในเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร (Sirindhorn Science Home) และ (3) การประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation และร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน China-ASEAN Expo ในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไทยได้บรรจุกิจกรรมความร่วมมือดังกล่าวไว้ในแผนงานเฉลิมฉลองของรัฐบาลไทยด้วย
3) โครงการศูนย์ให้บริการข้อมูลการสำรวจดาวเทียมระยะไกล (Remote Sensing Satellite Data Service Platform) คณะทำงานฝ่ายจีน ได้สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือ ตลอดจนดำเนินการติดตั้ง Data Service Platform ณ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการร่วมสร้างเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของบุคลากรไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนให้พัฒนาขึ้นมาทัดเทียมกับจีนได้ โดยเฉพาะการสนับสนุนข้อมูลดาวเทียมของจีน (CBERS-04) โดยไม่คิดมูลค่า และคณะทำงานฝ่ายไทยคาดหวังความร่วมมือที่จะพัฒนาร่วมกับจีนให้เป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนเป็นประโยชน์ต่อไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น การร่วมพัฒนาระบบ data service terminal (Cloud Service Platform for Remote Sensing) ให้สามารถรองรับข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมไทยโชตสำหรับให้ประเทศสมาชิกอาเซียนใช้ประโยชน์ต่อไป
4) โครงการศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน (Thailand-China Joint Research Center) คณะทำงานฝ่ายจีนได้มุ่งมั่นและทุ่มเทในการผลักดันกิจกรรมความร่วมมือตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา รวมถึงการเปิดสำนักงานโครงการศูนย์วิจัยร่วม (Preparation Office) ณ ประเทศไทย ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญที่บ่งชี้ความสำเร็จอีกขึ้นหนึ่งของการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างกัน
สำหรับในอนาคตไทยคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากจีน โดยเฉพาะการผลักดันการจัดตั้งศูนย์วิจัยร่วมไทย-จีน ให้เป็นผลสำเร็จ โดยฝ่ายไทยยินดีมอบหมายให้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency-NSTDA) เป็นคณะทำงานโครงการความร่วมมือด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน โดยรวมกับคณะทำงาน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีไทย-จีน ที่มีอยู่เดิม ซึ่งในปัจจุบันคณะทำงานฝ่ายไทยประกอบด้วยผู้แทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาด้านพลังงาน ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (Thailand Institute of Scientific and Technological Research-TISTR) และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรจากภาคเอกชนและผู้ประกอบการไทย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมอยู่ในคณะทำงาน จึงมั่นใจว่าคณะทำงานฝ่ายไทยมีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพอย่างยิ่งที่จะผลักดันกิจกรรมความร่วมมือได้ครอบคลุมเป้าหมายความร่วมมือทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระหว่างสถาบันวิจัย/หน่วยงานของไทยและจีน นับจากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 1 ที่จีนได้เสนอความร่วมมือด้านพลังงานใหม่และพลังงานทดแทน ทางฝ่ายไทยจึงได้สานต่อความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการด้านพลังงานให้เดินทางไปเข้าร่วมการประชุม Forum on China-ASEAN Technology Transfer and Collaborative Innovation ก่อให้เกิดบรรยากาศในการเจรจาธุรกิจระหว่างกัน ตลอดจนการลงนามความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างผู้ประกอบการไทยและหน่วยงานวิจัยท้องถิ่นของจีน ทางประเทศไทยคาดหวังจะได้ขยายและพัฒนาความร่วมมือด้านด้านพลังงานผ่านกิจกรรมความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาร่วมระหว่างหน่วยงานไทย-จีนต่อไป
ทั้งนี้ ไทยได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นคณะทำงานโครงการความร่วมมือด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยมีความร่วมมือด้านการวิจัยนโยบาย วทน. ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเป็นระยะเพื่อสำรวจฐานทั้งในประเทศไทยและจีน และไทยยินดีสนับสนุน China-ASEAN Science Technology and Innovation Policy Collaboration Network และให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) เป็นคณะทำงานย่อย ภายใต้คณะทำงานด้าน Space Technology Application และคาดหวังความร่วมมือและพัฒนาในการวิจัยและพัฒนา เพื่อต่อยอดพัฒนาเป็นนวัตกรรม ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี GNSS โดย GISTDA กับ NRSCC จะเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการประสานงาน หน่วยงาน ผู้ประกอบการ/นักลงทุน/นักวิชาการของไทย จีน และประเทศอาเซียน เพื่อผลักดันให้เกิดการนำเทคโนโลยีด้าน GNSS ไปใช้งาน และสร้างเป็น Solution ตอบสนองความต้องการของธุรกิจและตลาดภายในประเทศและภูมิภาคได้ (tbc)
หมายเหตุ เจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายจีน ที่ร่วมประชุมประกอบด้วย
- รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- รองอธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ
- ผู้อำนวยการฝ่ายอาเซียนและแอฟริกา
เครดิตข้อมูลโดย : สำนักความร่วมมือระหว่างประเทศและวิเทศสัมพันธ์
ข่าวโดย : นางสาวพจนพร แสงสว่าง
เผยแพร่ข่าวโดย : นางสาวศิริลักษณ์ สิกขะบูรณะ และ นางสาวนีรนุช ตามศักดิ์
กลุ่มงานประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
โทรศัพท์ 0 2333 3700 ต่อ 3727 - 3732 โทรสาร 0 2333 3834
e-mail : pr@most.go.th
Facebook : sciencethailand
ที่มา: http://www.thaigov.go.th