การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday March 9, 2015 16:00 —สำนักโฆษก

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมเสวนาเรื่อง "การพัฒนากำลังคนด้านวิทยาสตร์ระดับอุดมศึกษา และความต้องการกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ระดับชาติ" โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณอมเรศ ภูมิรัตน อนุกรรมการบริหารโครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ภายในงานประชุมสัมมนาการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ของประเทศ จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ณ ห้องกลมทิพย์ โรงแรมเดอะสุโกศล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวตอนหนึ่งว่า โครงการ Talent Mobility เป็นเรื่องเกี่ยวกับกำลังคนจริงๆ และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยวิธีธรรมชาติที่สุด เพราะไม่ต้องไปก่อสร้างอะไร ไม่ต้องไปเรียกร้องของบประมาณจำนวนมาก และใครได้ประโยชน์คนนั้นจ่าย ซึ่งผ่าน ครม. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นี้ โครงการนี้มีที่มา โดยเราได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนตั้งศูนย์วิจัย เอกชนหลายแห่งตั้งศูนย์วิจัยแล้ว ได้ร้องขอ 2 เรื่อง ได้แก่ 1. แรงจูงใจทางภาษี และ 2. ขอคน ขอคนเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย บริษัทใหญ่ๆ ต้องเดินทางไปต่างประเทศเพื่อสรรหาคนกลับมาทำงาน เรื่องคนเป็นเรื่องรากฐานจะพัฒนานวัตกรรมอย่างไร จะพัฒนาวิทยาศาสตร์อย่างไร ภาคเอกชนในระยะ 10 ปีนี้ เขาไม่สามารถจะสร้างคนได้ทันที่จะรองรับกับความต้องการของการแข่งขัน Talent Mobility จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชน ด้วยการปลดล็อค 3 ประการ คือ 1. ถือเป็นเวลาปฏิบัติราชการ ไม่ว่าจะไปทำงาน 1 เดือน 3 เดือน หรือ 2 ปี 2. ผู้ที่เป็นนักเรียนทุน ระหว่างที่ทำงานใน Talent Mobility ถือเป็นการใช้ทุน 3. ผลงานที่ได้จากโครงการนำมาขอตำแหน่งทางวิชาการได้ โดยใช้เกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยจะกำหนดขึ้น

การหักลดหย่อนทางภาษี จาก 200% เป็น 300% ลงทุน 100 บาท หักภาษีได้ 300 บาท โดยมีเงื่อนไข บริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท สามารถนำค่าใช้จ่าย R&D ที่ไม่เกิน 20% ของรายได้มาหักได้โดยคูณ 3 ได้เท่ากับ 60% ซึ่ง SMEs จะได้ประโยชน์มาก จะทำให้ SMEs เข้ามาในระบบนี้มากขึ้น โดยใน 300% เรายังได้บวกคำว่า "นวัตกรรม" เข้าไปด้วย นวัตกรรมก็หักภาษี 300% ได้ จาก 50-200 ล้านบาท สามารถหักได้ 3% ของยอดขาย ของรายได้คูณ 3 แล้วคือ 9% ที่เป็นบริษัทใหญ่เกิน 200 ล้านบาทขึ้นไป หักได้ 2% คูณ 3 ก็คือ 6% ซึ่งสรรพากรเห็นชอบด้วยแล้ว เป็นการแก้เงื่อนไขหลักๆ 2 ประการ ที่เอกชนเรียกร้องมาโดยตลอดว่า ถ้าประสงค์จะให้เขาลงทุน R&D สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเรื่องคน จัดการให้เขาด้วย และวันนี้กำลังเสนอให้เอกชนที่ประสงค์จะบริจาคให้กองทุนวิจัย สามารถที่จะหักภาษีได้เท่ากับการบริจาคให้การศึกษา คือ 200%

ผู้เขียนข่าว : นายปราโมทย์ ป้องสุธาธาร กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ

ถ่ายภาพ : นายไววิทย์ ยอดประสิทธิ์ , นางสุนิสา ภาคเพียร นาวงษ์

ที่มา: http://www.thaigov.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ